...

ไหตะเกียงสังคโลกจากเตาหมายเลข ๖๑
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ขอเผยแพร่ องค์ความรู้ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖ เรื่อง "ไหตะเกียงสังคโลกจากเตาหมายเลข ๖๑"
     ไหตะเกียงสังคโลก จัดแสดง ณ ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกหมายเลข ๖๑ เป็นภาชนะดินเผาสังคโลกที่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสังคโลกชิ้นอื่นที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีแหล่งเตาบ้านเกาะน้อยหมายเลข ๖๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ มีลักษณะเป็นภาชนะทรงไหไม่เคลือบเนื้อแกร่ง (Stoneware) ปากผายกว้าง มีไหขนาดเล็กรูปทรงเดียวกันจำนวน ๔ ใบ (ชำรุดไป ๑ ใบ) ประดับอยู่ที่ไหล่ของภาชนะ บางครั้งก็เรียกว่า “หม้อมีลูก” โดยไหขนาดเล็กที่ไหล่ทั้ง ๔ ใบ ทำหน้าที่เป็นปล่องสำหรับใส่ไส้ตะเกียง ส่วนน้ำมันบรรจุภายในไห สันนิษฐานว่าภาชนะประเภทนี้ผลิตขึ้นเป็นตะเกียงใส่น้ำมันจุดเพื่อให้แสงสว่างในพิธีกรรมในศาสนสถานเป็นหลัก สัมพันธ์กับภาชนะทรงไหไม่เคลือบใบอื่นๆ ที่ขุดพบร่วมกันได้ถูกคนในสมัยสุโขทัยนำมาใช้ในการบรรจุอัฐิฝังไว้ใกล้ฐานเจดีย์และวิหาร ดังได้พบจากการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีโบราณสถานหลายแห่ง
     อายุสมัยไหสังคโลกนี้คงผลิตขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ จากผลการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์จากชิ้นส่วนผนังเตาหมายเลข ๖๑ ด้วยวิธีเทอร์โมลูมิเนสเซนซ์ (Thermoluminescence Dating - TL) มีค่าอายุราว ๔๔๓ ±๒๙BP หรือราวปีพุทธศักราช ๒๐๒๑ - ๒๐๗๘ เป็นช่วงเวลากรุงศรีอยุธยาเข้าปกครองเมืองศรีสัชนาลัยแล้ว อันเป็นช่วงที่มีการผลิตสังคโลกเพิ่มมากขึ้นเพื่อส่งออกทำให้เกิดขยายตัวของเตาเผาสังคโลกและรูปแบบสังคโลกที่มีความหลากหลายมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. เซรามิกแห่งแหลมทองและแดนอาทิตย์อุทัยสานตำนานสายใยไม่เสื่อมคลายในพาณิชยวัฒนธรรมโลก(ระเบียนรูปเซรามิกไทย-ญี่ปุ่น). กรุงเทพฯ : สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร, ๒๕๖๕.
บริษัท นอร์ทเทริ์นซัน (๑๙๓๕) จำกัด. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดี : โครงการงานอนุรักษ์หลุมขุดค้นทางโบราณคดีภายในอาคารศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลกหมายเลข ๖๑ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย. ปีงบประมาณ ๒๕๕๕. (เอกสารอัดสำเนา)
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีเตาเผาสังคโลกหมาย ๖๑, ๑๗๖, ๑๗๗ และ ๑๗๘. งานโบราณคดี โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย กองโบราณคดี กรมศิลปากร ปีพุทธศักราช ๒๕๒๙-๓๐. (เอกสารอัดสำเนา)

(จำนวนผู้เข้าชม 170 ครั้ง)