...

นางอัปสรา ประติมากรรมปูนปั้นซุ้มปราสาทเฟื้อง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ขอเผยแพร่
องค์ความรู้ประจำเดือนพฤศจิกายน เรื่อง "นางอัปสรา ประติมากรรมปูนปั้นซุ้มปราสาทเฟื้อง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง"
   รูปนางอัปสราที่ปรากฏภายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงอยู่ที่บริเวณฐานของซุ้มปราสาทเฟื้อง นางอัปสรา หรือนางอัปสร (Apsara) มาจากคำว่า อัป ในภาษาสันสกฤต หมายถึง “น้ำ” และคำว่า สรา หมายถึง “เคลื่อนไหว” เมื่อรวมกันจึงมีความหมายว่า “ผู้เคลื่อนไหวในน้ำ”  บางครั้งเรียกว่า “สุรสุนทรี” หรือ “วิทยาธนี”
  ในคัมภีร์ปุราณะของฮินดูเล่าว่า นางอัปสราเกิดจากการกวนเกษียรสมุทรของเหล่าทวยเทพและอสูร เพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำอมฤต โดยก่อนที่จะได้น้ำอมฤตนั้นบังเกิดสิ่งของมากมายหลายอย่าง  หนึ่งในสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นคือนางอัปสรานับหมื่นนับแสน ทั้งหมดล้วนเป็นหญิงงาม ประดับด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์อย่างอลังการ แต่ไม่มีเทวดาองค์ใดหรืออสูรตนใดยอมรับเป็นคู่ครอง ด้วยเหตุนี้ พวกนางจึงกลายเป็นของกลางมีหน้าที่ขับกล่อมดนตรีและบำเรอกามให้แก่เหล่าเทพและอสูร นอกจากนี้ นางอัปสรยังมีหน้าที่นำวิญญาณของวีรบุรุษที่ตายในสนามรบขึ้นสู่สรวงสวรรค์และถวายรายงานต่อเทพเจ้าด้วย  การประดับรูปนางอัปสรา คงต้องการแสดงนัยยะว่าเป็นดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ อันเป็นที่สถิตของเหล่านางอัปสราและเทวดาทั้งหลาย
  ประติมากรรมปูนปั้นรูปนางอัปสราที่ประดับอยู่ที่ส่วนฐานของซุ้มปราสาทเฟื้องนี้มีลักษณะใบหน้าเหลี่ยม หน้าผากกว้าง ท่าทางและเครื่องทรงแบบศิลปะเขมร  ประกอบด้วย กระบังหน้าและเครื่องประดับศีรษะ สวมสร้อยคอ พาหุรัด กำไลข้อมือ และกำไลข้อเท้า จากการศึกษาผ้าทรงของนางอัปสรา พบว่า ด้านหน้าผ้าทรงและด้านหลังประดับชายผ้านุ่งข้างหน้าพับซ้อนกันและส่วนล่างของชายก็ขยายออกเป็น ชายหางปลา  หรือที่เรียกว่า ผ้าหางไหลพับซิกแซก  มีความคล้ายคลึงกับผ้าทรงของนางอัปสราในศิลปะเขมร แต่เนื่องจากมีลักษณะบางประการของนางอัปสราบนฐานซุ้มปราสาทเฟื้องนี้ ที่ผ้าพบเป็นเส้นขีดเป็นริ้วบริเวณส่วนปลายผ้าชายหางปลา และปลายผ้าห้อยหน้าของผ้าทรงนางอัปสรา ซึ่งเป็นริ้ว เป็นลักษณะที่ไม่นิยมในศิลปะเขมร แต่พบในผ้าทรงแบบสุโขทัยประยุกต์ที่นิยมกันตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นไป ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าเป็นผลงานของสกุลช่างสุโขทัยที่จำลองมาจากศิลปะเขมร โดยมีอายุร่วมสมัยกันประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐  นอกจากนี้ยังพบศิลปกรรมการนุ่งผ้าทรงที่ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรเช่นเดียวกันในอาณาจักรสุโขทัย เช่น ผ้าทรงเทวดาในจารึกภาพชาดกวัดศรีชุม วัดศรีสวาย และวัดเจดีย์สี่ห้อง เป็นต้น
 บรรณานุกรม
บันลือ ขอรวมเดช, รูปแบบศิลปะบนแผ่นภาพจารึกลายเส้นเรื่องชาดกของวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย.  (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร), ๒๕๓๓.
วรารักษ์ ชะอุ่มงาม, การวิเคราะห์ผ้าทรงในศิลปะสุโขทัยและล้านนาในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชา ประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร), ๒๕๕๗.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์, ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.
สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. ศิลปะขอม. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๗.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี, ทิพยนิยายจากปราสาทหิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๕๕.
Monier Monier-Williams, Sir. A Sanskit-English Dictionary (Oxford: Oxford University) ๑๘๘๙.

(จำนวนผู้เข้าชม 7355 ครั้ง)


Messenger