ปรางค์
นอกจากคำว่าสถูปและเจดีย์แล้ว ยังมีคำเรียกเจดีย์รูปแบบหนึ่งของไทยที่วิวัฒนาการมาจากปราสาทเขมร คือ ปรางค์
ซึ่งแต่เดิมเขมรสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ แต่มีการดัดแปลงมาเป็นเจดีย์ในพุทธศาสนาในช่วงที่กษัตริย์บางองค์นับถือศาสนาพุทธ และส่งอิทธิพลมายังปรางค์ในสมัยสุโขทัย คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗
ปรางค์มีห้องภายในหรือเรือนธาตุสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ มีส่วนยอดคล้ายฝักข้าวโพด ในสมัยอยุธยานิยมสร้างปรางค์ขึ้นเป็นเจดีย์แบบหนึ่ง รวมทั้งนิยมสร้างเป็นศูนย์กลางของเมืองอีกด้วย
ทางภาคเหนือและภาคอีสาน เรียกเจดีย์ว่า “กู่” ซึ่งน่าจะเพี้ยนมาจากภาษาพม่าว่า “คูหะ” หรือ “คูหา” ซึ่งในภาษาบาลีสันสกฤตที่หมายถึง ห้องหรืออุโมงค์ กู่ จึงสื่อความหมายของเจดีย์ทรงปราสาทที่มีห้องคูหาอยู่ภายใน
ตำแหน่งที่ตั้งและชื่อเรียกของเจดีย์
- เจดีย์ประธาน เจดีย์ที่สร้างเป็นหลักของวัด มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเจดีย์ภายในวัด และสร้างอยู่ในตำแหน่งที่เด่นสมเป็นประธานแก่เจดีย์อื่น
- เจดีย์ประจำมุม/เจดีย์ประจำทิศ อยู่ในตำแหน่งมุมทั้งสี่ หรือประจำกลางด้านทั้งสี่ของเจดีย์ประธาน
- เจดีย์ราย คือ เจดีย์ขนาดเล็กที่อยู่เรียงรายรอบบริเวณของเจดีย์ประธาน โดยอยู่ถัดออกมาจากเจดีย์ประจำมุมและเจดีย์ประจำทิศ หรือเจดีย์เล็กๆที่อยู่เรียงรายกันภายในเขตวัด
ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลอ่านเพิ่มเติมได้ตามรายงานหนังสือข้างล่างค่ะ
- กองโบราณคดี. รายงานทางวิชาการเพื่อพิจารณาประกอบการจัดทำแผนแม่บท โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๓.
- ประภัสสร์ ชูวิเชียร. ๕ มหาเจดีย์สยาม. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๔.
- รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. มรดก ๑,๐๐๐ ปี เก่าที่สุดในสยาม. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๖.
- สันติ เล็กสุขุม. เจดีย์ ความเป็นมาและคำศัพท์เรียกองค์ประกอบเจดีย์ในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๒.
- ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม. รายงานแบบสำรวจรังวัดโบราณสถานเมืองศรีสัชนาลัย. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร : ๒๕๔๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 9687 ครั้ง)