...

เศียรพระธรรมิกราช
เศียรธรรมิกราช

จากวัดธรรมิกราช ควรมีอายุอยู่ในช่วงเวลาใด?

                 เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "เศียรธรรมิกราช" เพราะพบที่วัดธรรมิกราชพระนครศรีอยุธยา  ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา  เป็นเศียรพระพุทธรูปสำริดที่มีขนาดใหญ่สุดและมีความสำคัญมากที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย 
 
                เศียรพระธรรมิกราช  สูงประมาณ ๒.๐๐ เมตร กรอบพระพักตร์สี่เหลี่ยม(กรามใหญ่) พระขนงเชื่อมต่อกันเป็นปีกกาและเป็นสันนูน พระเนตรเปิดกว้างเหลือบลงต่ำเล็กน้อย ไม่แสดงดวงพระเนตร พระนาสิกค่อนข้างใหญ่ พระโอษฐ์แบะกว้าง แนวเส้นพระโอษฐ์เกือยเป็นเส้นตรง ริมพระโอษฐ์หนา พระเศียรมีขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็กอย่างมากและทรงสูงแบบหนามขนุน มีอุษณีษะไม่สูงมากนักและที่อุษณีษะแสดงเม็ดพระศกด้วยเช่นกัน  ระหว่างพระนลาฏกับพระศกมีขอบที่เรียกว่าไรพระกปรากฎอยู่ด้วยแต่เป็นแนวเล็กๆ เท่านั้น
 
                 นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่าเศียรพระธรรมิกราชนี้มีมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเชื่อว่ามีอายุอยู่ในราวครึ่งแรกพุทะศตวรรษที่ ๑๘ โดยเชือมโยงกับตำนานในพงศาวดารเหนือที่กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์คือพระเจ้าธรรมิกราช(พ.ศ. ๑๗๐๘-๑๗๔๘) พระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ผู้สร้างวัดมุขราช หรือ วัดธรรมิกราช  นอกจากนี้อาจารย์ น. ณ ปากน้ำยังให้ความเห็นเกี่ยวกับเศียรธรรมิกราชไว้ด้วย ซึ่งเรียกเศียรพระดังกล่าวว่า "หลวงพ่อแก่" เพราะพระพักตร์นั้นดูเคร่งเครียด สูงอายุ แสดงอำนาจและพลังอันเข้มแข็ง เป็นสมัยการนับถือพุทธศาสนาแบบมหายานร่วมสมัยกับอาณาจักรนครหลวงของขอม จัดเป็นแบบอู่ทองทั่วไป ศิลปะช่วงก่อนสมัยอยุธยา
 
                ข้อสังเกตประการสำคัญที่ว่าเศียรธรรมิกราชไม่ใช่ศิลปะแบบเขมรแต่เป็นศิลปะแบบไทยแล้วก็คือ ส่วนของพระเศียรที่ทำเป็นอุษณีษะและมีขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็กทรงสูง ลักษณะดังกล่าวไม่มีปรากฎในศิลปะเขมร  กล่าวคือในศิลปะสมัยนครวัดนิยมทำเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่มีเทริดหรือกระบังหน้าและมงกุฎทรงกรวยครอบอยู่ ส่วนในสมัยบายนไม่นิยมเทริดแล้ว แต่บางครั้งมีการทำเป็นมงกุฎซึ่งทำเป้นชั้นๆ ประดับด้วยลายกลีบบัว หรือไม่มีมงกุฎแต่ทำเป็นอุษณีษะทรงเตี้ยๆ พระพุทธรูปในศิลปะเขมรจนถึงสมัยบายนนั้นไม่พบว่ามีการทำพระรัศมี
 
               อย่างไรก็ดี ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ได้นำเสนอแนวคิดที่ต่างออกไป โดยเชื่อว่าเศียรธรรมิกราชจัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นสายที่มีวิวัฒนาการมาจากศิลปะเขมรและศิลปะลพบุรี  จัดเป็นศิลปะอู่ทองรุ่นที่ ๒ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐  ทั้งนี้เทียบเคียงกับรูปแบบที่ใกล้เคียงกันมากที่สุดและมีหลักฐานการสร้างคือ พระพุทธรูปบุทองที่พบจากกรุวัดมหาธาตุ พระนครศรีอยุธยา อยู่ในช่วงต้นพุทะศตวรรษที่ ๒๐ ลงมาจนถึงกลุ่มพระพุทธรูปแบบอู่ทอง ๒ ที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะที่สร้างในสมัยสมเด็จเจ้าสามพระยา ที่พระพุทธรูปแบบอู่ทอง ๒ เริ่มพบน้อยลงแล้ว
 
 
ที่มา: หนังสือ พุทธปฏิมา งานช่างพลังแห่งศรัทธา ของ ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์
 
 

(จำนวนผู้เข้าชม 9921 ครั้ง)


Messenger