วัสดุ ว่าน แผ่นเงิน
แบบศิลปะ ศิลปะแบบล้านช้าง
อายุสมัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 24-25
สถานที่พบ พบจากการขุดแต่งพระธาตุพันขัน บ้านหนองมะเหียะ ตำบลจำปาขัน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยสำนักงานศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด เมื่อ 15 พฤษภาคม 2548
พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระพักตร์กลม พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกเล็ก แย้มพระโอษฐ์ใหญ่ เม็ดพระศกเป็นตารางสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน อุษณีษะเป็นต่อมคล้ายลูกแก้วซ้อนกันสองชั้น พระรัศมีทรงกรวยแหลมหกเหลี่ยม ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา สังฆาฏิเป็นแผ่นแบนใหญ่ยาวจรดพระนาภี พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ฐานสูง ฐานบัวหงายขนาดเล็กเรียบไม่มีลวดลาย ฐานบัวคว่ำสลักลวดลายกลีบบัวคว่ำ ลายเรขาคณิต ลายแถวเม็ดประคำ ฐานล่างสุดมีจารึกโดยรอบฐาน
การทำพระบุเงิน คือการนำเนื้อเงินมาตีแผ่ให้เป็นแผ่นบาง ๆ แล้วนำไปบุหุ้มกับหุ่นซึ่งทำด้วยดิน ขี้เลื่อย ว่านและดอกไม้แห้ง โดยกดให้เนื้องานติดแนบกับหุ่นสนิท จากนั้นจึงใช้ค้อนตอกเป็นลวดลายต่างๆ
(จำนวนผู้เข้าชม 1605 ครั้ง)