...

เอกมุขลึงค์


วัสดุ หินทราย

แบบศิลปะ ศิลปะเขมรในประเทศไทย

อายุสมัย อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 15 (ประมาณ 1,100 ปีมาแล้ว)

สถานที่พบ พบที่พระธาตุพันขัน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อ 19 มิถุนายน 2538

ศิวลึงค์ คือองค์กำเนิดเพศชายที่เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ หมายถึงการสร้างสรรค์ ความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง ในขณะเดียวกันก็หมายถึงตรีมูรติ (เทพเจ้า3 องค์ในศาสนาพราหมณ์) ด้วย โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนล่าง เป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่า พรหมภาค หมายถึง พระพรหม ส่วนกลางเป็นรูปแปดเหลี่ยม เรียกว่า วิษณุภาค หมายถึง พระวิษณุ และส่วนบนเป็นรูปกลม เรียกว่า รุทรภาคหมายถึง พระศิวะ เอกมุขลึงค์คือศิวลึงค์ที่มีพระพักตร์ของพระศิวะประกอบที่ส่วนรุทรภาค1 พระพักตร์

มุขลึงค์เป็นที่นิยมในสมัยก่อนเมืองพระนคร ในประเทศกัมพูชาพบมุขลึงค์ถึงกว่า 30 องค์ ในขณะที่ศิลปะเขมรในประเทศไทยนั้นพบตัวอย่างให้เห็นน้อยมาก โดยมุขลึงค์ในศิลปะเขมรที่พบส่วนใหญ่จะประดับเศียรพระศิวะขนาดเล็ก

เอกมุขลึงค์ชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานทางรูปแบบและลำดับขั้นวิวัฒนาการในช่วงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างกลุ่มศิวลึงค์รุ่นเก่าและรุ่นหลังที่สร้างขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16 - 17 จึงอาจกำหนดอายุเอกมุขลึงค์องค์นี้ไว้ในช่วงต้นของกลุ่มศิวลึงค์รุ่นหลังหรือราวพุทธศตวรรษที่ 15

(จำนวนผู้เข้าชม 3291 ครั้ง)


Messenger