แหล่งเรือจมเกาะมันนอก หรือเรือเมล์ ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

แหล่งเรือจมเกาะมันนอก หรือเรือเมล์  ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
 
 ความเป็นมาของแหล่งโบราณคดี
          กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำได้รับทราบข่าวเกี่ยวกับแหล่งเรือจมเกาะมันนอก จากคำบอกเล่าของคุณวิเชียร  สิงห์โตทอง  เจ้าของกิจการและเรือเช่าท่องเที่ยวดำน้ำ ตกปลา ชื่อ The Toy Tourโดยคุณวิเชียรได้เล่าว่าพบแหล่งเรือจมเกาะมันนอกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2535 ระหว่างการไปตกปลา จากนั้นได้ลงดำน้ำสำรวจพบซากเรือเหล็ก และชิ้นส่วนโลหะกระจัดกระจายอยู่ภายในลำเรือ แหล่งเรือจมเกาะมันนอก อยู่ที่ความลึกประมาณ 18 – 20 เมตร ต่อมาจึงได้แจ้งให้กลุ่มโบราณคดีใต้น้ำทราบเพื่อดำเนินการสำรวจแหล่งเรือดังกล่าว ปัจจุบันแหล่งเรือเกาะมันนอกเป็นที่รู้จักทั่วไปในหมู่ชาวประมงที่ลากอวนจับปลาอยู่ในบริเวณนั้น
 
 ที่ตั้ง
          แหล่งเรือจมเกาะมันนอก ตั้งอยู่ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ห่างจากเกาะมันนอกมาทางทิศใต้ประมาณ 4 ไมล์ทะเล หรือ 7.4 กิโลเมตร ละติจูด 12 องศา 30 ลิปดา 19.9 ฟิลิปดา เหนือ และ ลองติจูด 101 องศา 42 ลิปดา 25.9 ฟิลิปดา ตะวันออก
 
 สภาพแหล่งโบราณคดี
         จากการสำรวจแหล่งเรือจมเกาะมันนอกเบื้องต้น พบว่าเป็นเรือเหล็ก หัวเรืออยู่ทางทิศใต้ ท้ายเรืออยู่ทางทิศเหนือ ขนาดของตัวเรือ ยาว 41.20 เมตร  กว้าง 6.50 เมตร ที่ใช้เทคนิคการต่อเปลือกเรือหรือแผ่นเหล็กเข้าด้วยกันโดยการเจาะรูย้ำหมุด แนวกราบเรือขวาหายไปบางส่วน ชิ้นส่วนแผ่นเหล็กตัวเรือที่ผุพังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป พบอิฐที่ใช้ปูพื้นดาดฟ้าเรือกระจายทั่วไป พบชิ้นส่วนไม้บ้างเล็กน้อย และท่อที่ทำจากทองแดง นอกจากนี้ยังมีเศษอวนลากมาติดบริเวณซากเรือโดยทั่วไป สภาพตัวเรือที่เหลืออยู่สูงจากพื้นทรายประมาณ 1 เมตร และส่วนที่ยังจมอยู่ในพื้นทรายอีกประมาณ 1 เมตร รอดำเนินการขุดค้นต่อไป
 
 หลักฐานโบราณวัตถุ
 
โบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจครั้งนี้ จำแนกได้ดังนี้
 
1.  ส่วนประกอบต่างๆของตัวเรือ
 
- วัสดุเป็นโลหะเหล็ก เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ไอน้ำ, ช่องกระจกเรือ, ชิ้นส่วนประตู ชุดกุญแจ      
 
   รอก ฯลฯ
 
- วัสดุเป็นไม้ เช่น แผ่นไม้มีร่องรอบไหม้ไฟ เป็นต้น
 
- วัสดุอื่นๆ เช่น ผ้ากันความร้อน, ซิลิโคนยาเรือ, อิฐ เป็นต้น
 
2. เหรียญเงินกษาปณ์ชนิดต่างๆ
 
- เหรียญกษาปณ์ของไทยสมัยรัชกาลที่ 5และ 6ปะปนกัน จำนวน 430เหรียญ
 
- เหรียญกษาปณ์ของฝรั่งเศส จำนวน 2เหรียญ
 
- เงินพดด้วงของไทยจำนวน 3ชิ้น
 
3.โบราณวัตถุประเภทโลหะ พบหลากหลายประเภท
 
- ส่วนประกอบต่างๆของตู้เซฟยี่ห้อ CHUBB เช่น ประตูตู้เซฟ, ป้ายยี่ห้อCHUBB} ฝาบานพับ
 
  ตู้, กรอบตู้, แป้นยึดน็อต, และโลหขาตู้
 
                     - นาฬิกาพกทรงกลม
 
                     - กระดุมทองขนาดเล็กจำนวน 3เม็ด
 
4.โบราณวัตถุอื่นๆ
 
- จุกปิดขวดน้ำหอมรูปทรงหยดน้ำ, ชิ้นส่วนแก้วมีอักษร “GAPOR”
 
- อิฐดินเผาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
 
5.เศษภาชนะดินเผา  มี 2ประเภท คือ
 
- เศษภาชนะดินเผาแบบ Stone ware จำนวน 5ชิ้น
 
- เศษภาชนะดินเผาแบบ Porcelain จำนวน 11ชิ้น
 
          โบราณวัตถุทั้งหมดได้ส่งให้กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์สงวนรักษาเรียบร้อยแล้ว
 
การวิเคราะห์แปลความเบื้องต้น
      จากหลักฐานต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะเป็นโครงสร้างของหม้อไอน้ำ อีกทั้งพบชิ้นส่วนหลักเดวิด ที่ใช้สำหรับชักหย่อนเรือบด กอปรกับชื่อเรียกเรือลำนี้ที่ใช้เรียกขานกันมานานว่า เรือเมล์ ซึ่งอาจจะหมายความถึงเรือโดยสาร จึงสันนิษฐานว่าเรือลำนี้น่าจะเป็นเรือจักรกลไอน้ำที่อาจจะใช้เป็นเรือโดยสารที่แล่นขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯและเมืองท่าต่างๆ เนื่องจากในอดีตการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต้องใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง  อีกทั้งจันทบุรีมีหลักฐานเอกสารระบุว่าในอดีตเคยเป็นเมืองท่าของป่าและเครื่องเทศ จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นเรือโดยสารระหว่างกรุงเทพฯ และจันทบุรี นอกจากนี้การพบประตูตู้นิรภัยและเหรียญกษาปณ์จำนวนมากซึ่งอาจจะเป็นที่เก็บรักษาเงินค่าโดยสารและสิ่งของมีค่าอื่นๆ ที่มากับเรือลำนี้
 
      การกำหนดอายุแหล่งเรือจมนี้จากเหรียญกษาปณ์ไทยที่สามารถทราบปีที่เริ่มต้นผลิตจนถึงปีที่สิ้นสุดการผลิต (เหรียญที่อายุเก่าสุด ผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2412) และเหรียญกษาปณ์ฝรั่งเศสที่ระบุปี ค.ศ. 1913 (พ.ศ. 2456) แหล่งเรือจมเกาะมันนอกน่าจะมีอายุประมาณ 100ปี อย่างไรก็ตามเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป หากได้มีการการขุดค้นตลอดทั้งลำเรือเพื่อเก็บข้อมูลโดยละเอียด คาดว่าน่าจะได้หลักฐานเพิ่มเติมที่จะช่วยในการวิเคราะห์แปลความมากยิ่งขึ้น
 
      รายงานข้อมูลแหล่งเรือจมเกาะมันนอก หรือเรือเมล์  ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง พร้อมภาพประกอบ

                   

ตัวอย่างไฟล์แนบ PDF:

(จำนวนผู้เข้าชม 1823 ครั้ง)

Messenger