พริกไทย
พริกไทย
ลักษณะทั่วไปและถิ่นกำเนิด
พริกไทย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Piper nigrum) เป็นพืชที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นราชาของเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุน และเป็นเครื่องเทศที่ให้รสเผ็ดร้อน สามารถนำมาทำพริกไทยแห้งเป็นเครื่องปรุงอาหาร เป็นไม้เลื้อย เจริญในแนวดิ่ง สูงได้โดยการพันเกาะสิ่งอื่นได้ประมาณ 10 เมตรหรือมากกว่า มีลำต้นหลักและแตกแขนงออกเป็นพุ่ม มีการสร้างรากพิเศษสั้น ๆ บริเวณข้อเพื่อยึดเกาะสิ่งรอบข้าง
พริกไทยเป็นพืชประจำถิ่นในแถบตอนใต้ของเทือกเขากาตของรัฐเกรละในประเทศอินเดีย นอกจากนั้นยังเป็นพืชเศรษฐกิจในเขตร้อน เช่น ในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย บราซิล และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตหลัก ในประเทศไทยมีการปลูกพริกไทยโดยเกษตรกรในจังหวัดจันทบรี โดยผลิต ร้อยละ 95ของประเทศ โดยอำเภอที่เพาะปลูกมากที่สุดในจันทบุรีคือ อำเภอท่าใหม่ อย่างไรก็ตามพริกไทยที่ใช้บริโภคส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นของนำเข้ามากว่าที่ผลิตในประเทศ
พริกไทยในประวัติศาสตร์
ในประวัติศาสตร์พริกไทยเป็นสินค้าส่งออกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จากเอกสารสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้นเรียกพริกไทยว่า “พริก” ปรากฏในเอกสารการซื้อขายระหว่างฝรั่งเศสและสยาม ซึ่งเขียนขึ้นที่ลพบุรี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อ พ.ศ.2231 แหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญสมัยอยุธยาระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21-23 อยู่ที่นครศรีธรรมราช บางสะพาน เกาะกูด สงขลา พัทลุงและปัตตานี
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นการส่งออกพริกไทยเพื่อเป็นสินค้าออกมีมากขึ้น แหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญในสมัยนี้ได้แก่เมืองจันทบุรี และหัวเมืองทางภาคใต้ เช่น ปัตตานี กลันตัน และเป็นสินค้าผูกขาดของสยามมาจนถึง ปี พ.ศ.2387 ในรายการสินค้าของเรือขนส่งสินค้าจากสยามไปยังจีน 4 ลำ ในปี พ.ศ. 2388 คือเรือสำเภา ซุ่นฮง ซุ่นฮะ ซินหลี และเรือกำปั่นเทพโกสินทร์ ต่างมีพริกไทยเป็นหนึ่งในสินค้าที่บรรทุกไปด้วย และพริกไทยแต่ละชนิดก็จะขายในราคาที่ต่างกัน
ในแหล่งโบราณคดี.ใต้น้ำที่เป็นซากเรือสินค้าที่จมลงในทะเล พบเมล็ดพริกไทยจำนวนมาก ในแหล่งเรือจมบางกะไชย ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสินค้าส่งออก และมีแหล่งเพาะปลูกอยู่ในประเทศไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 22 แหล่งเรือจมบางกะไชย ดำเนินการสำรวจขุดค้นโดยกลุ่มวิชาการโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2542
อ้างอิง
1.มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์,สันต์ ท. โกมลบุตร แปล .จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. สำนักพิมพ์ ศรีปัญญา,2557
2.เจนนิเฟอร์ เวย์น คุชแมน,ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ แปล.การค้าทางเรือสำเภา จีน-สยามยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์.สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2528
3.อรุณรัตน์ ฉวีราช, ธวัดชัย ธานี, รุ่งลาวัลย์ สุดมูล และ ปิยะ โมคมุล. 2552. พืชสกุลพริกไทยในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. ขอนแก่น: ขอนแก่นการพิมพ์
4.บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ. “พริกไทยในประวัติศาสตร์ไทย” ศิลปากร ปีที่ 45 ฉบับที่ 2 มี.ค.-เมย. 2545.
(จำนวนผู้เข้าชม 2778 ครั้ง)