เครื่องถ้วยเชลียง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี จันทบุรี นำเสนอองค์ความรู้เรื่อง
เครื่องถ้วยเชลียง ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี
....
เครื่องถ้วยไทยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่พบในระบบการค้าทางทะเล คือ เครื่องถ้วยเชลียง เป็นเครื่องถ้วยต้นแบบของเครื่องถ้วยสังคโลก
ในแหล่งโบราณคดีใต้น้ำพบในเรือรางเกวียนโดยพบร่วมกับเครื่องถ้วยเวียดนาม และเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน
....
เครื่องถ้วยเชลียงเป็นผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาบ้านเกาะน้อย บ้านหนองอ้อ ทางเหนือเมืองศรีสัชนาลัยลักษณะเป็นภาชนะดินเผาแบบหยาบๆ เนื้อดินเหนียวสีคล้ำ และสีเทานวล เคลือบสีเขียวแกมเหลือง และสีเขียวแกมเทา สีน้ำตาล ภาชนะประเภทชามเคลือบสีเฉพาะด้านใน เครื่องเคลือบกลุ่มนี้ผลิตมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 17-19 โดยใช้เตาเผาแบบเตาขุดในดินผนังโบกยาดินเหนียว ถือได้ว่าเครื่องถ้วยเชลียงเป็นเครื่องถ้วยต้นแบบก่อนที่จะค่อยๆ พัฒนามาเป็นสังคโลกแบบสีเขียวไข่กา และชามลายปลา ลายพฤกษบุปผาในพุทธศตวรรษที่ 20-21 ที่เป็นสินค้าออกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
เครื่องถ้วยเชลียงที่พบในแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ พบในแหล่งเรือจมรางเกวียนเพียงแห่งเดียว ประกอบด้วย ชาม 2 ใบ และ กระปุกจำนวน 11 ใบ
....
อ้างอิง
1. สายันต์ ไพรชาญจิตร์,โบราณคดีสีคราม 2 : เครื่องถ้วยจากทะเล (กรุงเทพ : โครงการโบราณคดีใต้น้ำ กองโบราณคดี กรมศิลปากร,2532)
2. ปริวรรต ธรรมปรีชากร,สว่าง เลิศฤทธิ์ และกฤษฎา พิณศรี,ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย (กรุงเทพ : โอสถสภา,2539)
3.กรมศิลปากร.ประวัติศาสตร์การพาณิชย์นาวีไทย.สำนักพิมพ์สมาพันธ์ จำกัด,2544
(จำนวนผู้เข้าชม 1514 ครั้ง)