โบราณสถานวัดจันทาราม

โบราณสถานวัดจันทาราม

          ตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าวัง  อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  จังหวัดนครศรีธรรมราช  สร้างขึ้นเมื่อประมาณพ.ศ. ๒๓๔๐ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา  เมื่อพ.ศ. ๒๓๕๐ 

          โบราณสถานสำคัญภายในวัด ได้แก่ กุฏิทรงไทย จำนวน ๓ หลัง หลังที่ ๑ กุฏิหลัง ทิศตะวันออก เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศเหนือ  หน้าบันด้านทิศเหนือแกะลายไม้เป็นรูปเทพพนมท่ามกลางลายพันธุ์พฤกษา มีขนาดเล็กสุดในจำนวน ๓ หลัง  หลังที่ ๒ กุฏิหลังกลาง ด้านทิศใต้   เดิมเคยเป็นกุฏิเจ้าอาวาส ลักษณะเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ อาคารชั้นล่างและบันไดก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นไม้ ที่ช่องลมแกะสลักลวดลายเป็นรูปดอกไม้ ลายเทพพนม ลายมงกุฎขนาบด้วยสิงห์ บริเวณเชิงชายตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายขนมปังขิง ที่หน้าบันด้านทิศเหนือมีลายแกะไม้เป็นรูปพญานาคล้อมอยู่ในลายกนก ด้านล่างเขียนตัวอักษรว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๕๘” หลังที่ ๓ กุฏิด้านทิศตะวันตก เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐสอปูน มีบันไดทางขึ้น ๒ ข้าง ลักษณะคล้ายบันไดเวียน ด้านหน้าทำเป็นชานยื่นออกมา บริเวณเชิงชายตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายขนมปังขิง หน้าบันด้านทิศเหนือ เขียนตัวอักษรไม้ฉลุว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๖๕ ปีจอ”  กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะกุฏิหลังที่ ๒ และ ๓ เมื่อพ.ศ. ๒๕๖๑

          โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ได้แก่ ตู้พระธรรมขาหมูลายรดน้ำ ทำด้วยไม้ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ จำนวน ๓ ตู้ และฐานประติมากรรมรูปเคารพ ซึ่งคงทำขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทั้งนี้ จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อพ.ศ. ๒๕๕๒ ได้พบเศษเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถังตอนปลาย ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้กำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕

          กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดจันทาราม ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนพิเศษ ๘๓ ง หน้า ๑ วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๑ เนื้อที่โบราณสถานประมาณ ๑ ไร่ ๙๖ ตารางวา

 

 

Wat Chantharam

          Wat Chantharam is located in Tha Wang Tavatimsa, Mueang Nakhon Si Thammarat District, Nakhon Si Thammarat Province. It was built in 1797 during the reign of King Rama I. The temple was officially registered as the temple in 1807.

          The significant monuments in the temple are three Thai-style Kuti or monastic residences. The first Kuti is a two - storey building which the upper part was made of wood and is in the east. There is a staircase in the north of Kuti. The northern gable was decorated with carved wood in Thep Phanom figure (Thai divinity figure) surrounded by the floral. The first Kuti is the smallest of the three Kuti. 

          The second Kuti is in the south and used to be the abbot's Kuti. It is a two - storey building which the upper part was made of wood. The staircase was made of brick and lime. The air vent is carved with floral pattern, Thep Phanom pattern, crown flanked by lions pattern. The eaves are carved with gingerbread pattern. On the northern gable, there is a carved wooden of a Naga enclosed in Kanok pattern under the pattern was an inscription of “Buddhist Era 2458”. 

          The third Kuti is on the west. It is a two - storey building. The ground floor was made of brick and mortar. There is a staircase on each side which similar to a spiral staircase. There is a terrace in front of the cabins. The eaves of the building are decorated with gingerbread trim pattern. On the northern wooden gable, there was an inscription of “Buddhist Era 2465”, The year of dog". The Fine Arts Department restored the second and the third Kuti in 2018. 

          The significant artefacts are the three gold gilded black lacquered scriptures cabinets of Rattanakosin art and the sculpture base which may be associated with Hinduism. According to archaeological excavation in 2009, the fragments of the Chinese ceramics in the late Tang Dynasty were found and date back to the 9th - 10th century which showed the history of this area.

          The Fine Arts Department announced the registration of Wat Chantaram as a national monument and 1,984 squares - metres of national monument area in the Royal Gazette, Volume 115, Special part 83, page 1, dated 21st September 1998.  

 

(จำนวนผู้เข้าชม 41 ครั้ง)