ถนนจอมพล
ตอนนี้ ถนนจอมพล กำลังเป็นกระแสของชาวโคราชอีกครั้ง เพราะกำลังมีกิจกรรม “#GRAFFITTI X #ChompolFest.” โดย GRAFFITTI ทั้ง 4 จุดที่กระจายตัวอยู่บนถนนจอมพลนี้ ช่วยเพิ่มความน่าสนใจของถนนเส้นนี้ได้ดีมากขึ้น พี่นักโบจึงหยิบยก บทความ “สืบร่องรอย “ถนนจอมพล” ผ่านหลักฐานทางโบราณคดี” มาเล่าให้ทุกท่านได้ฟัง ก่อนจะไปชมงานศิลปะ ดื่มด่ำวิถีชีวิตด้วยวิธีเดินเมืองกันครับ
.
หากเรามอง “#ถนนจอมพล” ในมิติทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีแล้ว ถนนเส้นนี้คือกระดูกสันหลังของเมืองนครราชสีมา มาช้านาน เป็นเส้นแกงกลาง เมืองนครราชสีมา ตามแนวแกนทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก มีความยาวเท่ากับความกว้างของเมืองคือ 1,700 เมตร จุดสังเกตง่ายๆของถนนจอมพลคือตั้งอยู่ด้านหลังประตูชุมพล ซึ่งเป็นจุดหมายตาสำคัญ ทอดยาวไปทางด้านทิศตะวันออกจรดประตูพลล้าน ด้วยเป็นถนนแกนกลางของเมือง จึงมีโบราณสถานและศาสนสถานสำคัญตั้งอยู่ 2 ฝั่งถนน หลายแห่ง อาทิ ประตูชุมพลวัดบึง ศาลเจ้าบุญไพศาล ศาลหลักเมือง วัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร) สถานพระนารายณ์ บ้านท่านท้าวสุรนารี และวัดบูรพ์
.
ในอดีตถนนเส้นนี้เป็นรู้จักกันในชื่อถนน “#เจริญพานิชย์” คงเพราะเป็นถนนที่มีการทำธุรกิจการค้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อ เป็นถนน “จอมพล” เพื่อเป็นเกียรติให้กับ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คราวเดินทางมาตรวจราชการจังหวัดนครราชสีมา และยังเป็นถนนเส้นแรกของเมืองที่ลาดยางเนื่องจากเป็นถนนสายเศรษฐกิจ มีธุรกิจ ห้าง ร้าน หลายแห่ง
.
“#ถนนจอมพลจากหลักฐานทางโบราณคดี"
ผลการขุดค้นทางโบราณคดีที่ผ่านมา ภายใต้โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ พบโบราณวัตถุหลายประเภท ซึ่งแสดงถึงร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตบริเวณถนนจอมพล ดังนี้
.
1. เครื่องถ้วยจีน โดยภาชนะทั้งหมดสามารถกำหนดอายุอยู่ในช่วง ปลายพุทธศตวรรษที่ 24-25 จากการวิเคราะห์ลวดลายและเทคนิคที่พบ ได้จัดจำแนกเครื่องถ้วยจีน ที่พบจากแหล่งเตาชิงจี แหล่งเตาจิ่งเต๋อเจิ้น และแหล่งเตาเฉาอันและเหยาผิง รวมทั้งสิ้น 3 กลุ่ม
.
2. เครื่องถ้วยญี่ปุ่น พิมพ์ลายสีน้ำเงินลายดอกไม้ และก้านขด บนพื้นสีขาวด้านใน พิมพ์ลายเส้นบริเวณปากและก้น ผลิตจากแหล่งเตาในประเทศญี่ปุ่น โดยเทคนิคการพิมพ์ลายนี้ สามารถกำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25
.
3. เครื่องถ้วยฝรั่งเศส เคลือบน้ำเคลือบสีขาว ผลิตจากแหล่งเตาในประเทศฝรั่งเศส บริเวณก้นมีข้อความ “OPAQUE DE SARREGUEMINES” พร้อมสัญลักษณ์ โดย รูปแบบสัญลักษณ์ดังกล่าว เป็นตราผลิตภัณฑ์เครื่องถ้วยเนื้อกระเบื้อง ที่ผลิตจากเมืองแซร์กูมีนส์ (Sarreguemines) ซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายการค้าอย่างเป็นทางการ ระหว่าง พ.ศ. 2400-2457 ตรงกับรัชกาลที่ 5-6
.
4. ภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา และเนื้อแกร่ง ผิวเรียบ ไม่ตกแต่ง สันนิษฐานว่าผลิตจากแหล่งเตาพื้นถิ่น ไม่สามารถกำหนดอายุสมัยและแหล่งที่มาได้ชัดเจน
.
5. หอยเบี้ย จำนวน 2 สำหรับหอยเบี้ยมีการใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี ถึง สมัยรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2405 มีประกาศยกเลิกใช้หอยเบี้ย แล้วประกาศใช้เงินตราประเภท อัฐ โสฬส ซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำระบบแลกเปลี่ยนเงินตราขึ้นใหม่ ซึ่งใน พ.ศ. 2405 นั้นโรงกษาปณ์ได้ผลิตเหรียญดีบุกขึ้นเป็นครั้งแรก โดยหอยเบี้ยทั้ง 2 ชิ้น พบร่วมกับเครื่องถ้วยจีน จากแหล่งเตาจิ่งเต๋อเจิ้น ผู้เขียนจึงกำหนดอายุอยู่ในช่วงครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ 25
.
6. แผ่นไม้ ซึ่งสันนิษฐานว่า แผ่นไม้ดังกล่าวเป็นแผ่นไม้ปูพื้นถนนจอมพล โดยอ้างอิงจากภาพถ่ายเก่าถนนโพธิ์กลาง ซึ่งต่อเนื่องจากถนนจอมพลไปทางด้านทิศตะวันตก นอกเมืองเก่านครราชสีมา ซึ่งสันนิษฐานว่าถ่ายขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 5-6 ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 25 เนื่องจากพื้นถนนเป็นเนินสูงสลับกับที่ลาดต่ำ จึงมีการปรับพื้นที่ถนน โดยใช้ไม้หมอนวางเรียงกันเป็นแนว แล้วปูทับด้วยไม้กระดาน เรียงเป็นลูกระนาด ในอดีตชาวโคราชจึงเรียกถนนลักษณะนี้ว่า “ถนนกระดาน”
.
#สรุป
พุทธศตวรรษที่ 25 เป็นช่วงเวลาที่เมืองนครราชสีมา มีความเจริญเติบโตมากขึ้นกว่าสมัยก่อนหน้า ในฐานะศูนย์กลางการปกครองเทศาภิบาลมณฑลลาวกลาง ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 และศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เพราะถือกำเนิดรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2443 ด้วยทั้ง 2 ปัจจัย ส่งผลให้เมืองนครราชสีมาเติบโตขึ้น มีการปลูกสร้างอาคาร ห้างร้าน บ้านเรือน ต่าง ๆ ที่ขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ
.
ถนนจอมพล ในฐานะถนนเส้นแกนกลางของเมือง ช่วงเวลานั้น ถูกยกให้เป็นถนนเส้นสำคัญ เพราะเป็นทั้งศูนย์กลางความเชื่อของคนนครราชสีมา ด้วยปรากฏ ศาสนสถานหลากหลายความเชื่อบนถนนเส้นเดียวกันนี้ และเป็นถนนสายเศรษฐกิจ จนมีชื่อว่า “เจริญพานิชย์” โดยเฉพาะชาวจีนจากมณฑลกว่างตงที่อพยพโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานทำการค้าตั้งแต่ พ.ศ. 2400 บริเวณนี้ จนกลายเป็นย่านธุรกิจการค้าสำคัญของเมืองนครราชสีมาจวบจนถึงปัจจุบัน
.
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบกำหนดอายุร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์ในอดีตบนถนนจอมพล มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 เช่นเดียวกัน โดยอ้างอิงอายุสมัยจากรูปแบบเครื่องถ้วยต่างประเทศที่พบจากการขุดค้น เป็นหลัก โดยเครื่องถ้วยต่างประเทศและโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่พบแสดงให้เห็นการอยู่อาศัยและการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างชาวนครราชสีมากับชุมชนต่างภูมิภาค ได้เป็นอย่างดี ด้วยเพราะนครราชสีมาในตอนนั้น เป็นทั้งศูนย์กลางการปกครองและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
.
พี่นักโบชวนอ่านบทความฉบับเต็ม เรื่อง สืบร่องรอย “ถนนจอมพล” ผ่านหลักฐานทางโบราณคดี” #นิตยสารศิลปากร ปีที่ 65 ฉบับที่ 5 (กันยายน-ตุลาคม 2565) หน้า 38-53 ได้ที่ website : https://digitalcenter.finearts.go.th/ หรือ คลังข้อมูลดิจิทัล – กรมศิลปากร ได้เลยครับ
.
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ
.
#ย่านจอมพล
#ถนนจอมพล
(จำนวนผู้เข้าชม 75 ครั้ง)
สงวนลิขสิทธิ์ © 2563 กรมศิลปากร. กระทรวงวัฒนธรรม
-
นโยบายเว็บไซต์ |
มาตรฐาน