...

เจดีย์วัดพระธาตุดอยกองมู
#องค์ความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่
เจดีย์วัดพระธาตุดอยกองมู ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
วัดพระธาตุดอยกองมู เดิมมีชื่อเรียกว่า จองป๋ายหลอย หรือ วัดปลายดอย ตั้งอยู่บนยอด “ดอยกองมู” ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองแม่ฮ่องสอน กองมูเป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า พระเจดีย์ เพราะเชื่อกันว่าเขาลูกนี้มีลักษณะเหมือนเจดีย์
.
ภายในวัดมีเจดีย์ที่สำคัญ 2 องค์ คือ เจดีย์องค์ใหญ่และเจดีย์องค์เล็ก ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม 2524 หน้า 3690 รวมทั้งวิหารหลังคาทรงยวนที่อยู่ติดกันด้วย
.
เจดีย์องค์ใหญ่ สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2403 (จุลศักราช 1222) โดยศรัทธาผู้สร้างคือ คหบดีชื่อ จองต่องสู่ และนางเหล็ก ผู้เป็นภรรยา ภายในบรรจุพระธาตุของพระโมคัลลานะ ที่อัญเชิญมาจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ซึ่งมอบให้พระอูปั่นเต๊กต๊ะ ช่วยจัดหาพระธาตุสำหรับบรรจุภายในเจดีย์ให้ เมื่อก่อสร้างเสร็จเต็มองค์แล้ว เจดีย์มีฐานกว้างด้านละ 20 เมตร สูง 33 เมตร ต่อมาจองต่องสู่ได้จ้างช่างที่เมืองมะละแหม่งให้ทำยอดฉัตรเจดีย์ให้ แต่ว่าได้ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะได้ทำพิธียกฉัตรและสมโภช หลังจากนั้นเจดีย์ได้พังลงเหลือเพียงส่วนฐานข้างล่างจากคอระฆังลงมา
ปลายปีพุทธศักราช 2491 พระครูอนุสนธิศาสนากิจ เจ้าอาวาสวัดไม้ฮุง และคณะศรัทธา ได้ร่วมกันบูรณะใหม่ให้เต็มองค์และทำพิธียกฉัตรสมโภชเมื่อเดือนมีนาคม ปีพุทธศักราช 2493
ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช 2511 มีการบูรณะเจดีย์โดยพระครูอนุสารสาสนกรณ์ (ปานนุ วิสุทโธ) เจ้าอาวาส พร้อมคณะศรัทธา ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเจดีย์ตั้งอยู่บนฐาน 8 เหลี่ยมซ้อนกันและสร้างซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประจำวันเกิด 8 องค์ และทำพิธียกฉัตรสมโภชเมื่อปีพุทธศักราช 2514
.
เจดีย์องค์เล็ก สร้างเมื่อปีพุทธศักราช 2417 (จุลศักราช 1236)  โดยศรัทธาผู้สร้างคือ พญาสิงหนาทราชา เจ้าเมืองคนแรกของแม่ฮ่องสอน ภายในบรรจุพระธาตุของพระสารีบุตร ที่อัญเชิญมาจากเมืองมัณฑเลย์ ประเทศพม่า ซึ่งมอบให้พระอูเอ่งต๊ะก๊ะ ช่วยจัดหาพระธาตุบรรจุภายในเจดีย์ให้ และทำพิธียกฉัตรสมโภชเมื่อพุทธศักราช 2418
.
แม้ว่าเจดีย์ทั้งสององค์จะสร้างไม่พร้อมกันและมีการบูรณะหลายครั้ง แต่รูปแบบปัจจุบันโดยรวมมีความคล้ายกัน คือ “เป็นเจดีย์แบบมอญ” สันนิษฐานว่าจำลองรูปแบบมาจากเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ซึ่งเป็นเจดีย์องค์สำคัญที่เชื่อว่าบรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้า
โดยเจดีย์แบบมอญมีรูปแบบ คือ มีฐานลาด ไม่มีบันไดหรือลานประทักษิณ มักมีเจดีย์ขนาดเล็กที่ฐานด้านล่าง มีปลียาว ซึ่งแตกต่างจากเจดีย์แบบพม่า แต่ส่วนองค์ระฆังมีรัดอกและบัวคอเสื้อ ไม่มีบัลลังก์ มีปัทมบาทระหว่างปล้องไฉนและกับปลี เหมือนกับเจดีย์แบบพม่า
เจดีย์ทั้งสององค์มีองค์ประกอบหลักเป็นเจดีย์มอญ แต่มีความแตกต่างกันที่ เจดีย์องค์ใหญ่ได้มีการบูรณะปรับเปลี่ยนเป็นฐาน 8 เหลี่ยมซ้อนกันและบริเวณฐานด้านล่างประดับซุ้มพระพุทธรูปทั้ง 8 ทิศ ส่วนเจดีย์องค์เล็กเป็นฐาน 4 เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน บริเวณฐานด้านล่างประดับซุ้มพระพุทธรูปซึ่งมีหลังคาประดับเรือนยอดทรงปราสาท 3 ยอด และที่มุมทั้ง 4 มีประดับรูปปั้นสิงห์
----------------------------------------------------
อ้างอิง
- พระครูอนุสารสาสนกรณ์. ประวัติวัดพระธาตุดอยกองมู และจังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : นีลนาราการพิมพ์, 2528. หน้า 22-31.
- สุรชัย จงจิตงาม. ล้านนา Art & Culture. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2555. หน้า 122-125.
- คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดแม่ฮ่องสอน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2542. หน้า 94.
- สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน. ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่. เชียงใหม่  :  เจริญวัฒน์การพิมพ์, 2549. หน้า 377.
- ป้ายประวัติวัดพระธาตุดอยกองมู ที่วัดพระธาตุดอยกองมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- เอกสารประกอบการบรรยายวิชา survey of arts history in neighboring countries คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

(จำนวนผู้เข้าชม 306 ครั้ง)


Messenger