กำเนิด"คัทธนกุมาร"
"กล่าวถึงเมืองศรีสะเกษ"
เมื่อถึงเวลาพระ "โพธิสัตว์" จะลงมาจุติเพื่อบำเพ็ญเพียรบารมี ตามธรรมเนียมเป็นหน้าที่ของพระอินทร์ ที่จะคอยช่วยเหลือจัดการให้บรรลุจุดประสงค์ตามเป้าหมาย
โดยพระอินทร์แปลงร่างเป็นพญาช้างเผือกลงมาเหยียบย้ำข้าวในที่นาของหญิงหม้าย นางผู้ที่มีฝีมือในการทอผ้าและสอนวิชาการทอผ้าให้กับหญิงชาวเมืองจนเป็นที่รักใคร
ช้างเผือกอินทร์แปลงได้เหยียบย้ำข้าวในที่นาของนางให้เสียหาย และทิ้งรอยเท้ามีน้ำขังไว้ ๑ รอย นางมาเห็นความเสียหายของต้นข้าวในนา นางเสียใจมาก และนางเดินหาสาเหตุที่ทำให้ข้าวในนาเสียหายจนเกิดความเหนื่อยหล้าและกระหายน้ำ นางจึงกินน้ำในแอ่งรอยเท้าพญาช้างเผือกนั้น
ต่อมานางตั้งครรภ์ และได้คลอดกุมารน้อย นามว่า "คัทธนกุมาร" พร้อมดาบวิเศษศรีกัญไชยเป็นอาวุธคู่กาย
กุมารน้อยเติบโตขึ้นมาด้วยความรักแสนอบอุ่นจากมารดา แต่ว่าเวลาเล่นกับเพื่อนๆมักจะโดนหยอกล้อว่าตนเป็นลูกช้าง พออายุได้ ๗ ปี คัทธนกุมารจึงอยากที่จะเจอพ่อของตน นางจึงพาคัทธนกุมารไปดูรอยเท้าของบิดาจึงรู้บิดาของตนเป็นพญาช้างจึงคิดว่าสักวันถึงเวลาอันควรจะต้องออกติดตามหาบิดาผู้ให้กำเนิดให้เจอจนได้
วันหนึ่งสองแม่ลูกออกหาขุดเผือกขุดมันในป่า มีนางยักษ์ตนหนึ่งเห็นกองไฟที่ทั้งสองจุดไว้ นางยักษ์จึงหมายจะเข้าไปจับมารดาของคัทธนกุมารกิน ขณะนั้นเองกุมารก็กระโดดขึ้นจากหลุมมัน ขึ้นมาช่วยมารดาตน ด้วยบุญญาธิการพร้อมพละกำลังดังพญาช้างสารจึงสามารถปราบนางยักษ์ได้ และหมายจะฆ่านางยักษ์เสีย นางร้องขอชีวิตจากกุมาร และได้มอบคนโฑทิพย์(น้ำในคนโททิพย์ช่วยให้ร่างกายกลายเป็นสาวเป็นหนุม) พร้อมกับนางยักษ์ได้ชี้บอกขุมทองคำให้แก่กุมาร กุมารจึงขุดทองคำและนำไปแจกจ่ายแก่ชาวเมือง
ครั้นพออายุได้ ๑๖ ปี ข่าวนี้เลื่องลือถึงบุญญาธิการและพลังมหาศาลของคัทธนกุมาร เจ้าเมืองศรีสะเกษ พระองค์จึงให้ทหารไปเชิญคัทธนะมาแสดงบุญญาธิการและพลังกำลังให้พระองค์ทอดพระเนตร...คัทธนะได้แสดงพละกำลังด้วยการถอนต้นตาล ๒ ต้น และเหาะขึ้นไปในอากาศพร้อมทั้งร่ายรำลีลาสวยงาม เจ้าเมืองเห็นแล้วจึงเกิดความชอบรักใคร่เอ็นดูและได้พระราชทานตำแหน่งให้เป็น"อุปราชแสนเมือง" จากนั้นคัทธนกุมารจึงรับเอามารดามาอยู่ด้วย และใช้น้ำจากคนโฑทิพย์เนรมิตมารดาให้เป็นสาวสวย ถวายเป็นพระชายาเจ้าเมืองศรีสะเกษ...จากนั้นอีก ๓ ปี คัทธนะจึงขอมารดาและเจ้าเมืองศรีสะเกษออกเดินทางตามหาพระบิดาผู้ให้กำเนิดพร้อมอาวุธคู่กายและคนโฑทิพย์ ตามเรื่องราว"คัทธนกุมารชาดก"
(ภาพเล่าเรื่องจิตรกรรมฝาผนังมุขทิศเหนือด้านทิศตะวันตก วัดภูมินทร์ อำเมือง จังหวัดน่าน)
เรียบเรียง : นางสาวกรอุมา นุตะศรินทร์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ
รับชมวีดีโอ : กำเนิด "คัทธนกุมาร"
เครดิต : กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี กรมศิลปากร
รับชมวีดีโอ : กำเนิด "คัทธนกุมาร"
เครดิต : กลุ่มอนุรักษ์จิตรกรรมและประติมากรรม กองโบราณคดี กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 970 ครั้ง)