พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยและสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยและสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒
เทคนิค : สีฝุ่นบนตาลปัตร
ศิลปิน : นายสุชาติ ขวัญหวาน ตำแหน่ง : จิตรกรปฏิบัติการ
กลุ่มงาน : กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
ผลงานศิลปกรรมออกแบบและจัดสร้างโดย กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดแสดงในนิทรรศการพิเศษ “เถลิงรัชช์หัตถศิลป์” ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ ๙ มิถุนายน – ๑๗ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. วันพุธ – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ – วันอังคาร)
การเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ด้วยเทคนิคการเขียนสีฝุ่นบนตาลปัตรชิ้นนี้ จิตรกรได้บันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธยและสถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง พระราชพิธีเบื้องปลายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นเป็น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพิรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ
เป็นเปลือกหอยสังข์นำมาขัดตกแต่ง มีสีขาวนวล และมีลักษณะพิเศษที่ปากเปิดออกทางขวา อย่างที่เรียกว่า “ทักษิณาวัฏ” ซึ่งต่างไปจากหอยสังข์ส่วนมากที่ปากเปิดออกทางซ้าย เรียกว่า “อุตราวัฏ” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชพระราชทานนามพระมหาสังข์องค์นี้ว่า “พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ” ทรงใช้ครั้งแรกในงานพระราชพิธีปราบดาภิเษก เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕ พระมหาสังข์องค์นี้ เลี่ยมขอบปากด้วยทองคำอย่างกาบกล้วยไปจดปลายปาก ซึ่งหุ้มด้วยทองคำเป็นปลอกรัดสลักลายหน้ากระดานประกอบกระจัง ในร่องปลายปากสังข์แกะลายเส้นเบาเป็นรูป “อุณาโลม” ส่วนท้ายสังข์ตกแต่งด้วยปริกทองคำฝังอัญมณีอย่างหัวพระธำมรงค์นพเก้า ที่บนหลังสังข์ติดช่อดอกไม้อย่างเทศทำด้วยทองคำประดับเพชรช่อใหญ่และช่อเล็กเรียงกันลงไปทางปลายปากสังข์และท้องสังข์ ใต้ปากสังข์ลงมาติดช่อดอกไม้อย่างเทศทำด้วยทองคำประดับเพชรขนานไปกับปากพระมหาสังข์
พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ เป็นพระมหาสังข์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงใช้บรรจุน้ำพระพุทธมนต์สำหรับสรงพระมุรธาภิเษก ในงานพระราชพิธีปราบดาภิเษกเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕ เป็นปฐม ต่อมาถือเป็นราชประเพณีที่เจ้าพนักงานภูษามาลาชั้นผู้ใหญ่จะเชิญพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสรงพระมุรธาภิเษก แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกรัชกาล ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ทรงใช้พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏหลั่งน้ำพระพุทธมนต์พระราชทานพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปทรงใช้สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญ ทรงหลั่งน้ำพระราชทานพระยาช้างต้นในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญทรงหลั่งน้ำที่โขนเรือหลวงในพระราชพิธีขึ้นระวางเรือพระที่นั่ง เรือรบหลวง และทรงใช้หลั่งน้ำที่ยอดธงชัยเฉลิมพล พระราชทานประจำกองทหารรักษาพระองค์ทุกเหล่าทัพด้วย
ใบมะตูม
มีลักษณะเป็น ๓ แฉก เป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู บางตำราถือว่าคล้ายพระแสงตรีซึ่งเป็นอาวุธของพระนารายณ์ ตำนานเทวปางของพราหมณ์กล่าวว่า พรหมองค์หนึ่งจุติมาเป็นช้างชื่อ เอกทันต์ มีอิทธิฤทธิ์และกำลังมหาศาล ไม่เชื่อฟังโองการใด ๆ ของพระนารายณ์ พระองค์จึงทรงนำเถาไม้ต่าง ๆ ๗ ชนิด มาร่ายมนตร์แล้วฟาดลงที่รอยเท้าช้างเอกทันต์ ทำให้ช้างเอกทันต์ปวดหัวแทบจะแตกวิ่งเข้าต่อสู้กับพระองค์แต่สู้ไม่ได้ พระนารายณ์ทรงซัดเชือกบาศผูกมัดเท้าขวาของช้างเอกทันต์ ทรงนำพระแสงตรีอาวุธประจำพระองค์ปักลงพื้นดินแล้วอธิษฐานให้เป็นต้นมะตูม จากนั้นเอาปลายเชือกบาศผูกกับต้นมะตูม ช้างเอกทันต์จึงพ่ายแพ้พราหมณ์ถือว่าใบมะตูมเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและเป็นมงคล นำถวายพระมหากษัตริย์สำหรับทรงใช้ในการพระราชทานน้ำสังข์ และพราหมณ์ใช้เมื่อถวายน้ำพระมหาสังข์แด่พระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีอื่น ๆ อนึ่ง ใบมะตูมนี้บางตำราถือว่าเป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพระอิศวร และบางตำราถือว่าลักษณะสามแฉกนั้น แทนพระพรหม พระอิศวร พระนารายณ์
อ้างอิง
คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๔, จาก http://www.phralan.in.th/coronation/vocab.php?ispage=10
.
ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมสื่อวีดิทัศน์ : ขั้นตอนการเขียนสีฝุ่นบนตาลปัตร ได้จากระบบศูนย์ข้อมูลงานศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ ทางลิ้งค์ด้านล่าง
-------------------------------------
https://datasipmu.finearts.go.th/knowledge/26
-------------------------------------
#เถลิงรัชช์หัตถศิลป์ #สำนักช่างสิบหมู่ #กรมศิลปากร
(จำนวนผู้เข้าชม 87 ครั้ง)