สัปคับพระที่นั่ง
แบบศิลปะ / สมัย สมัยรัตนโกสินทร์
วัสดุ (ชนิด) ไม้จำหลัก งาช้าง หวาย ลงรักปิดทอง
ขนาด กว้าง ๗๙ เซนติเมตร ยาว ๑๘๑ เซนติเมตร สูง ๘๗ เซนติเมตร
ประวัติความเป็นมา เดิมเป็นสมบัติของเจ้าราชภาคินัย และเจ้าหญิงบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ พุทธสถาน
เชียงใหม่ มอบให้
ความสำคัญ ลักษณะและสภาพของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในมณฑลฝ่ายเหนือ (พิษณุโลก) และมณฑลพายัพ (แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย พะเยา และเชียงใหม่) ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยรถไฟพระที่นั่งถึงนครเชียงใหม่เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ และเสด็จฯ กลับกรุงเทพฯ ในเช้าวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๙ มีพระราชกรณียกิจและประทับที่นครเชียงใหม่ เป็นเวลา ๑๕ วัน
ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมนครเชียงใหม่เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๙ เจ้านายฝ่ายเหนือ ข้าราชการทหาร พลเรือน พ่อค้า คหบดีนครเชียงใหม่ ได้จัดกระบวนแห่รับเสด็จเข้าเมือง โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับบนหลังช้างพระที่นั่งองค์ละช้าง ช้างพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นช้างทรงของพลตรีเจ้าแก้วนวรัตน์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ ช้างพระที่นั่งนั้นมีปกกระพองห้อยพู่จามรีห้อยข้างซองหาง ผูกกูบทองโถง เครื่องประดับช้างทั้งหมดทำด้วยเงิน ควาญหัวคือนายพันตำรวจเอกเจ้าชัยสงคราม ท้ายช้าง รองอำมาตย์เอก เจ้าประพันธุ์พงศ์
สัปคับ หรือ แหย่งช้าง หลังนี้สร้างด้วยไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ส่วนฐานเป็นแบบโปร่ง ตรงกลางใต้ช่องที่นั่งทำเป็นแป้นนูน ด้านหน้าสลักเป็นภาพขุนกระบี่ (ลิง) ติดในกรอบริมหยักแกะสลักลายก้านขด ด้านหลังเป็นภาพยักษ์ถือกระบอง พนักโดยรอบเป็นไม้แกะสลักฉลุเป็นลายก้านขดลงรักปิดทอง ประดับด้วยซี่กรงซึ่งทำด้วยงาช้างกลึงอย่างประณีต ส่วนของพื้นที่นั่งทำด้วยหวายเส้นขนาดเล็ก ลงรัก ทาชาด มีพนักพิงด้านหลัง ลักษณะเป็นแผ่นไม้รูปกลีบบัวลงรักทาชาดทางด้านหน้า ส่วนด้านหลังแกะลายกนกก้านขด ลงรักปิดทอง ด้านหน้าของสัปคับมีห่วงเหล็ก ๒ ห่วง สันนิษฐานว่าน่าจะใช้สำหรับเป็นที่ร้อยเชือกสำหรับตรึงสัปคับเข้ากับตัวช้างให้แน่นหนายิ่งขึ้น
(จำนวนผู้เข้าชม 522 ครั้ง)