องค์ความรู้เรื่อง : โบราณสถานวัดปทุมคงคาราม (วัดนกออก) อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
องค์ความรู้เรื่อง : โบราณสถานวัดปทุมคงคาราม (วัดนกออก) อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา  

อีกหนึ่งเพชรเม็ดงามทางวัฒนธรรมของอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา กับความงามของอุโบสถเก่า พร้อมภาพจิตรกรรมบนเพดาน ณ วัดปทุมคงคาราม (วัดนกออก) ตำบลนกออก กันครับ
 
อุโบสถเก่า หลังนี้ มีขนาดความกว้าง 6 เมตร และยาว 9 เมตร ก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานแอ่นโค้งเล็กน้อย สันนิษฐานว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุโบสถเก่า วัดหน้าพระธาตุ ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย ส่วนหลังคาเป็นทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ปลายจั่วหน้าบันประดับปูนปั้นเป็นหน้าบุคคล บริเวณผนังเจาะหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง มีประตูทางเข้า-ออกเฉพาะด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ซึ่งก่อเป็นซุ้มยื่นออกมา เสาซุ้มทำเสาโค้งลาดยื่นออกมาด้านล่าง กรอบซุ้มด้านบนประดับลวดลายไม้ และสลักรูปรังผึ้งแบบอีสานแต่ใช้ลายกระจังหูหรือกระจังปฏิญาณห้อยปลายไว้ตรงกลาง ด้านข้างทำโค้งแยกออกไป ประดับด้วยกระจกอังวะสีเขียว บานประตูแกะสลักเเละปิดกระจกลวดลายแบบจีน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย นามว่า "พระพุทธมุนีศรีปทุมคงคา" เป็นพระประธาน 
 
สำหรับ #จิตรกรรม ด้านใน หลงเหลือเฉพาะบนเพดาน เขียนด้วยสีฝุ่น จากภาพสันนิษฐานว่าจิตรกรได้รับแรงบันดาลใจจากงานช่างสมัยอยุธยา เเละสมัยรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ 4-5 ผสมผสานกับฝีมือช่างพื้นถิ่น โดยเขียนภาพเล่าเรื่องป่าหิมพานต์ ดวงดารา เเละลายพันธุ์พฤกษา ซึ่งมีสภาพเกือบสมบูรณ์
 
ด้านหน้าอุโบสถเก่าพบเจดีย์หรือธาตุทรงระฆัง ผังสี่เหลี่ยมจตุรัส ในวัฒนธรรมล้างช้าง หรือเป็นที่รู้จักกันในทางสถาปัตยกรรมว่า "ธาตุแบบบัวเหลี่ยม" จำนวน 2 องค์  ถัดไปทางด้านทิศใต้ห่างออกไปประมาณ 100 เมตร พบหอไตรกลางน้ำร่วมด้วยครับ
 
ปัจจุบัน อุโบสถเก่า ธาตุเจดีย์ เเละหอไตรกลางน้ำได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน พร้อมกำหนดขอบเขตโบราณสถาน ในชื่อ "โบราณสถานวัดคงคาราม" มาตั้งเเต่ปี 2539
 
หากมีโอกาสก็ขอเชิญชวนแฟนเพจทุกท่านเข้ามาชมอีกหนึ่งเพชรเม็ดงามทางวัฒนธรรมของอำเภอปักธงชัยบ้านเอ๋งกันนะครับ
 
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ

(จำนวนผู้เข้าชม 1252 ครั้ง)

Messenger