องค์ความรู้ เรื่อง "สิม วัดสว่างบัวมาศ" อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
องค์ความรู้ เรื่อง "สิม วัดสว่างบัวมาศ"
สิม วัดสว่างบัวมาศ ตั้งอยู่ที่ บ้านบ้วมาศ ตำบลบัวมาศ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นสิมแบบสิมทึบ ในแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดสี่ห้อง หันหน้าไปทางตะวันออก โครงสร้างหลังคาเดินเป็นไม้ แต่ปัจจุบันซ่อมเปลี่ยนเป็นวัสดุใหม่ไปแล้ว
ส่วนฐานอาคารทำเป็นชุดบัวลูกแก้วอกไก่ ตัวอาคารผนังก่อเป็นช่องหน้าต่างวงโค้ง ตอนล่างทำเป็นช่องวงโค้งรูปไข่แต่ทำเป็นหน้าต่างหลอก ใช้วงโค้งเป็นช่องแสงเข้าไปในตัวอาคาร ภายในทำฐานชุกชีเป็นแนวยาวตลอดผนังด้านตะวันตกตามแบบสิมในวัฒนธรรมล้านช้างทั่วไป
สำหรับพระพุทธรูปประธานถูกย้ายออกไปยังสิมหลังใหม่แล้วทั้งหมด ไม่มีภาพจิตรกรรมในสิม ผนังด้านนอกประดับด้วยลายปูนปั้น มีการทำหน้าต่างหลอกรูปแบบเดียวกัน แต่ปั้นปูนเป็นทวารบาลรูปตำรวจประดับไว้ ส่วนเหนือวงโค้งหน้าต่างทำปั้นลายเป็นรูปครุฑกางปีก ยอดหัวเสาปั้นลายลิงถือรังผึ้ง ซุ้มประตูทำเป็นวงโค้งประดับปูนปั้นเป็นภาพราหูอมจันทร์ หน้าบันประดับลายปูนปั้นเต็มพื้นที่เป็นภาพพระพุทธเจ้าท่ามกลางลายใบอะแคนทัส (acanthus) หรือ ผักกูดฝรั่ง มีนกยุงอินเดียประดับแทรกอยู่ หน้าบันด้านหลังประดับเป็นลายพระพุทธเจ้าอยู่ทาามกลางลายดอกไม้ ใบไม้แบบฝรั่งแทรกด้วยกระรอก นก ลิงถือรังผึ้งประดับอยู่
สิม หลังนี้แม้จะไม่มีประวัติการก่อสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบศิลปกรรมแบบสิมญวนที่ปรากฏอยู่ทั้งการใช้วงโค้งเหนือกรอบประตูและหน้าต่าง การใช้ลายปูนปั้นแบบตะวันตกก็สามารถประมาณอายุที่สร้างได้ในราว พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา ซึ่งจัดเป็นช่วงปลายๆอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบสิมญวนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แสดงถึงการเข้ามาของศิลปะเวียดนามรุ่นหลัง ๆ ที่มีอิทธิพลอยู่ในงานสถาปัตยกรรมไทยพื้นถิ่นและงานประดับตกแต่งในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2450-2500 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
มีโอกาส ขอเชิญชวนทุกท่านเเวะไปชมสิมหลังงามอีกแห่งหนึ่งของอำเภอบรบือกันนะครับ
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี
(จำนวนผู้เข้าชม 554 ครั้ง)