...

พระพุทธรูปในมณฑปประธานวัดพระสี่อิริยาบถ
พระพุทธรูปในมณฑปประธานวัดพระสี่อิริยาบถ
วัดพระสี่อิริยาบถเป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือนอกเมืองกำแพงเพชร สิ่งก่อสร้างสำคัญที่เป็นแกนหลักของวัดประกอบด้วยวิหาร ด้านหลังวิหารคือมณฑปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว เป็นทรงจตุรมุข ทำมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ มีแกนกลางเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักของอาคารลักษณะก่อเป็นแท่งสี่เหลี่ยมแต่ละด้านก่อผนังให้เว้าเข้าไปและประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น โดยผนังด้านตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปลีลา ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปยืน และด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปนอน โดยปรากฏมณฑปลักษณะคล้ายกันนี้ที่วัดเชตุพน ตั้งอยู่นอกเมืองสุโขทัยทางด้านทิศใต้
..
มณฑป ตามความหมายในศัพทานุกรมโบราณคดี มีสองความหมาย ได้แก่
.
ความหมายในสถาปัตยกรรมไทย หมายถึง อาคารสี่เหลี่ยมจัตุรัสสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานสิ่งที่ควรเคารพบูชา เช่น พระพุทธรูป อาจมีลักษณะคล้ายบุษบกแต่มีขนาดใหญ่กว่า และสามารถเข้าไปใช้สอยพื้นที่ด้านในได้
.
ความหมายในสถาปัตยกรรมอินเดียและเขมร หมายถึง อาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ตั้งอยู่ด้านหน้าปราสาทโดยมีมุขกระสันเป็นส่วนเชื่อมต่อ ใช้ประดิษฐานรูปเคารพและทำพิธีกรรมทางศาสนา
..  
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ (เสด็จประพาสต้น) ในปีพุทธศักราช 2449 ทรงพระราชนิพนธ์ถึงลักษณะมณฑปประดิษฐานพระสี่อิริยาบถ ความว่า
.
“...ชิ้นกลางเห็นจะเป็นวิหารยอดจัตุรมุข แต่สูงใหญ่เหลือเกิน มุขหน้าเป็นพระเดิน มุขหลังเป็นพระยืน มุขซ้ายเป็นพระนอน มุขขวาเป็นพระนั่ง ที่มุมปั้นเป็นรูปนารายณ์ขี่ครุฑใหญ่มาก จะรับหลังคาอย่างไรน่าคิด แต่พระเหล่านี้เป็นพระปั้นด้วยปูน ใครจะมาซ่อมมาทำเพิ่มเติมอย่างไรภายหลัง แต่รูปพรรณสัณฐานคงเป็นพระกำแพง ไม่ใช่ช่างเมืองอื่นมาทำ พระยืนนั้นขนาดพระโลกนาถวัดเชตุพน แต่ประเปรียวกว่า...”
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมารทรงเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือในปีพุทธศักราช 2450 และพระราชนิพนธ์ถึงวัดพระสี่อิริยาบถ ความว่า
.
“...วัดพระสี่อิริยาบถมีชิ้นสำคัญอยู่คือ วิหารสี่คูหา มีพระยืนด้านหนึ่ง พระนั่งด้านหนึ่ง พระลีลาด้านหนึ่ง พระไสยาสน์ด้านหนึ่ง พระยืน พระนั่ง พระลีลา ยังพอเป็นรูปร่างเห็นได้ถนัด แต่พระนอนนั้นชำรุดจนไม่เป็นรูป รอบวิหารมีผนังลูกกรงโปร่ง มองเข้าไปข้างในได้ทั้งสี่ด้าน...”
..
ลักษณะพระพุทธรูปในอิริยาบถทั้งสี่ประดิษฐานรอบแกนกลางของมณฑปแต่ละด้านดังนี้
..
ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถเดิน หรือลีลา ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นและปรากฏอย่างแพร่หลายในศิลปะแบบสุโขทัย ทั้งพระพุทธรูปแบบลอยตัวที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง เมืองศรีสัชนาลัย และเป็นภาพปูนปั้นเพื่อสื่อถึงพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง เมืองสุโขทัย นอกจากนี้ยังพบการจารภาพพระพุทธรูปลีลาบนจารึกวัดสรศักดิ์ ระบุปีพุทธศักราช 1960 กล่าวถึงการสร้างวัดของนายอินทสรศักดิ์ มีการสร้างเจดีย์มีช้างรอบ และประดิษฐานพระพุทธรูปลีลา (พระเจ้าหย่อนตีน) ดังปรากฏข้อความในจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 15-16 ความว่า
.
“...พระมหาเถรเจ้า จึงพ่ออยู่หัว เจ้าธนิมนต์เข้าชุมนุมกับพระเชตุพน อยู่มาสบวันดี จึงพระมหาเถรเจ้าก็ระบิตริในใจแลมารจนามหาเจดีย์มีช้างรอบ ประกอบด้วยพระเจ้าหย่อนตีน แลพระวิหารแลหอพระแล้วเสร็จ...”
.
ด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปอิริยาบถนั่ง หลงเหลือหลักฐานเฉพาะส่วนพระเพลาของพระพุทธรูปในลักษณะประทับนั่งสมาธิราบ แต่ส่วนพระกรและพระหัตถ์สำหรับแสดงมุทราของพระพุทธรูปไม่ปรากฏว่าแสดงปางมารวิชัย หรือปางสมาธิ
.
ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสูง 9.60 เมตร ส่วนพระกรซ้ายไม่สมบูรณ์ สันนิษฐานว่าแสดงปางประทานอภัย พุทธลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้แสดงศิลปะสุโขทัย สกุลช่างกำแพงเพชร อันได้แก่ พระพักตร์ยาวกว่าพระพุทธรูปหมวดใหญ่ ศิลปะสุโขทัย พระนลาฏกว้าง และพระหนุเสี้ยม
.
ด้านทิศเหนือสันนิษฐานว่าประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนอนหรือไสยาสน์ แม้จะมีสภาพไม่สมบูรณ์แล้ว แต่สามารถสังเกตได้จากก้อนศิลาแลงที่วางเรียงต่อกันทรงสามเหลี่ยมเป็นพระเขนยสำหรับวางพระเศียรขององค์พระพุทธรูป
..
การตีความเรื่องคติการสร้างพระพุทธรูปสี่อิริยาบถที่ประดิษฐานในมณฑปนั้น มีนักวิชาการสันนิษฐานไว้ 3 แนวทาง ดังนี้
.
1. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. มรว. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ในบทความ เรื่อง กลุ่มพระพุทธรูปสี่อิริยาบถในศิลปะสุโขทัย : ความหมายทางพระพุทธศาสนาบางประการ ได้เสนอความหมายของพระพุทธรูปสี่อิริยาบถว่า มีนัยยะถึงการปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนา คือ หลักสติปัฏฐาน 4 อันเป็นหลักในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยการกำหนดสติให้ตั้งมั่นในฐานทั้ง 4 ซึ่งประกอบด้วย กาย เวทนา จิต และธรรม โดยเฉพาะ ฐานกาย ซึ่งมีการกล่าวถึงการพิจารณาอิริยาบถหลักทั้ง 4 คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน
.
2. นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่าเป็นการแสดงถึงกิจวัตร และการพักผ่อนของพระพุทธเจ้าในรอบวัน คือ นั่ง หมายถึง การประทับนั่งในตอนเช้าก่อนเสด็จออกบิณฑบาต ยืน หมายถึง การประทับยืนในตอนเพลเพื่อแสดงโอวาท นอน หมายถึง การไสยาสน์ในตอนบ่ายและก่อนรุ่งแจ้ง และ เดิน หมายถึง การเสด็จพระราชดำเนินจงกรมเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้าในเวลาหลังเที่ยงคืน
.
3. ศ.ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ สันนิษฐานว่าพระสี่อิริยาบถนี้สื่อถึงพุทธประวัติในตอนต่าง ๆ โดยพระพุทธรูปในอิริยาบถเดินแสดงถึงตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งแสดงถึงตอนตรัสรู้ พระพุทธรูปในอิริยาบถยืนแสดงปางประทานอภัยสื่อถึงตอนประทานเทศนา และพระพุทธรูปในอิริยาบถนอนแสดงถึงตอนปรินิพพาน
..
วัดพระสี่อิริยาบถสามารถกำหนดอายุได้จากการพบแผ่นจารึกลานเงินเสด็จพ่อพระยาสอย ที่ระบุว่าจารขึ้นเมื่อพุทธศักราช 1963 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช แห่งกรุงศรีอยุธยา และรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) แห่งเมืองสุโขทัย โดยเนื้อความในจารึกกล่าวถึง สมเด็จพ่อพระยาสอยได้เสวยราชย์ที่บุรีศรีกำแพงเพชร และสมเด็จพระมหามุนีรัตนโมลีฯ ได้ประดิษฐานผอบพระรัตนธาตุเจ้า
...
เอกสารอ้างอิง  
กรมศิลปากร. ประชุมจารึก ภาคที่ 8 จารึกสุโขทัย. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, 2548.
คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำศัพทานุกรมด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดี
กรมศิลปากร, 2550.
นารีรัตน์ ปรีชาพีชคุปต์, ธาดา สังข์ทอง และอนันต์ ชูโชติ ; ผู้แปลภาษาอังกฤษ, นันทนา ตันติเวสสะ และ สุรพล นาถะพินธุ. นำชม
อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร (Guide to Sukhothai Si Satchanalai and Kamphaeng Phet historical parks) (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, 2542.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพฯ : มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยใน
พระบรมราชูปถัมภ์, 2519.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. “พระสี่อิริยาบถ.” ศิลปวัฒนธรรม. 16,11 (กันยายน 2538) : 118-121.
มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. ครบ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้น
 เมืองกำแพงเพชร วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2549. กรุงเทพฯ : จังหวัดกำแพงเพชร, 2549.
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา, 2554.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส, 2561.
ศิริปุณย์ ดิสริยะกุล. “การศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมวัดพระสี่อิริยาบถ จังหวัดกำแพงเพชร” วิทยานิพนธ์ระดับ
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์. “กลุ่มพระพุทธรูปสี่อิริยาบถในศิลปะสุโขทัย : ความหมายทางพระพุทธศาสนาบางประการ”. เมืองโบราณ.
13,3 (กรกฎาคม-กันยายน 2530) : 57-61.











(จำนวนผู้เข้าชม 356 ครั้ง)


Messenger