ศาลเจ้าปุงเถ่ากง
ตอน ศาลเจ้าปุงเถ่ากง
ประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากชาวล้านนาแล้ว ยังมีเชื้อชาติอื่นเข้ามาอาศัยและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ชาวเชื้อสายจีน โดยตั้งแต่ช่วงที่มีการค้าแบบม้าต่างวัวต่าง และพัฒนามาจนถึงการค้าแบบการล่องเรือ เริ่มมีผู้ค้าขายที่มีเชื้อสายจีนล่องเรือมาอาศัยและทำการค้าบริเวณย่านวัดเกตที่เป็นท่าเรือเก่า บริเวณตลาดต้นลำไย แถวถนนช้างม่อย ทำให้เกิดความคึกคักในย่านนี้มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อมีผู้คนชาวจีนอาศัยมากขึ้น จึงทำให้เกิดการสร้างศาลเจ้าแห่งแรกของเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของชาวจีน คือ ศาลเจ้าปุงเถ่ากงหรือปุนเถ่ากง ชื่อนี้เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว มีความหมายว่า “ชุมชนดั้งเดิม” ตั้งอยู่บริเวณติดริมน้ำปิง ซึ่งเป็นย่านการค้าทางเรือ โดยเชื่อว่ามีอายุเก่าแก่มากกว่า ๑๔๐ ปี เนื่องจากพบตัวเลข ๒๔๑๖ บริเวณไม้อกไก่ของหลังคา ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในอดีตบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวัดเณรจิ๋ว มีเจดีย์รูปร่างคล้ายกับเจดีย์วัดเกต บรรจุอัฐิพระพุทธเจ้าไว้ ต่อมาทางการได้รื้อซากปรักหักพังของเจดีย์ออกไป ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าพระธาตุเจดีย์ที่ถูกรื้อนั้นมีความเชื่อมโยงกับวัดเกต ซึ่งเป็นชุมชนชาวจีนเหมือนกัน
สถาปัตยกรรมของศาลเจ้าปุงเถ่ากง เป็นแบบศิลปะจีนโบราณ ด้านในของศาลนอกจากเทพเจ้าปุนเถ่ากง-ม่า (เจ้าปู่ เจ้าย่า) ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ได้แก่ ทีตี่แป่ป้อ (เทพยดาฟ้าดิน) กวนอิมเนี่ยเนี้ย (เจ้าแม่กวนอิม) ไช้ซิ้งเหล่าเอี้ย (เทพเจ้าโชคลาภ) ฮั้วท้อเซียนซือ (เทพเจ้าโอสถ) เฮี้ยงเทียนเซียงตี่ หรือตั้วเล่าเอี้ย (เจ้าพ่อเสือ) เล้งซิ้ง (เจ้ามังกร) โฮ้วเอี้ย (เจ้าพยัคฆ์) ตี่จู้ (เจ้าที่) หมึงซิ้ง (เจ้ารักษาประตู) จึงมีการทำพิธีทางศาสนาเบิกเนตร (ไคกวง) และอัญเชิญเจ้าสู่ที่ประทับ (เซ่งเต่ย) เทพเจ้ากวนอู ฮกลกซิ่ว แปดเซียนสิบแปดอรหันต์ ฯลฯ
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งตรงกับงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และวาระสมโภช ๗๐๐ ปี นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ได้มีการบูรณะศาลเจ้าโดยคณะกรรมการและสมาชิกได้พิจารณาก่อสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อทดแทนหลังเก่า เป็นทรงอาคารรูปแบบปัจจุบัน ภายในตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๑
เรียบเรียงโดย นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
อ้างอิง :
๑. อรรคพล สาตุ้ม. ๒๕๖๓. ความสัมพันธ์ “ชาวจีน” กับผู้ปกครองเชียงใหม่ผ่านความเชื่อและพิธีกรรมในศาลเจ้าจีน. ศิลปวัฒนธรรม(Online). https://www.silpa-mag.com/culture/article_35144 . สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕.
๒. เชียงใหม่นิวส์. ๒๕๖๒. เสริมสิริมงคลสักการะ ๓ ศาลเจ้าจีนในเชียงใหม่. เชียงใหม่นิวส์ (Online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/906850/ . สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕.
ประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากชาวล้านนาแล้ว ยังมีเชื้อชาติอื่นเข้ามาอาศัยและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ชาวเชื้อสายจีน โดยตั้งแต่ช่วงที่มีการค้าแบบม้าต่างวัวต่าง และพัฒนามาจนถึงการค้าแบบการล่องเรือ เริ่มมีผู้ค้าขายที่มีเชื้อสายจีนล่องเรือมาอาศัยและทำการค้าบริเวณย่านวัดเกตที่เป็นท่าเรือเก่า บริเวณตลาดต้นลำไย แถวถนนช้างม่อย ทำให้เกิดความคึกคักในย่านนี้มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อมีผู้คนชาวจีนอาศัยมากขึ้น จึงทำให้เกิดการสร้างศาลเจ้าแห่งแรกของเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของชาวจีน คือ ศาลเจ้าปุงเถ่ากงหรือปุนเถ่ากง ชื่อนี้เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว มีความหมายว่า “ชุมชนดั้งเดิม” ตั้งอยู่บริเวณติดริมน้ำปิง ซึ่งเป็นย่านการค้าทางเรือ โดยเชื่อว่ามีอายุเก่าแก่มากกว่า ๑๔๐ ปี เนื่องจากพบตัวเลข ๒๔๑๖ บริเวณไม้อกไก่ของหลังคา ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในอดีตบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของวัดเณรจิ๋ว มีเจดีย์รูปร่างคล้ายกับเจดีย์วัดเกต บรรจุอัฐิพระพุทธเจ้าไว้ ต่อมาทางการได้รื้อซากปรักหักพังของเจดีย์ออกไป ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าพระธาตุเจดีย์ที่ถูกรื้อนั้นมีความเชื่อมโยงกับวัดเกต ซึ่งเป็นชุมชนชาวจีนเหมือนกัน
สถาปัตยกรรมของศาลเจ้าปุงเถ่ากง เป็นแบบศิลปะจีนโบราณ ด้านในของศาลนอกจากเทพเจ้าปุนเถ่ากง-ม่า (เจ้าปู่ เจ้าย่า) ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ได้แก่ ทีตี่แป่ป้อ (เทพยดาฟ้าดิน) กวนอิมเนี่ยเนี้ย (เจ้าแม่กวนอิม) ไช้ซิ้งเหล่าเอี้ย (เทพเจ้าโชคลาภ) ฮั้วท้อเซียนซือ (เทพเจ้าโอสถ) เฮี้ยงเทียนเซียงตี่ หรือตั้วเล่าเอี้ย (เจ้าพ่อเสือ) เล้งซิ้ง (เจ้ามังกร) โฮ้วเอี้ย (เจ้าพยัคฆ์) ตี่จู้ (เจ้าที่) หมึงซิ้ง (เจ้ารักษาประตู) จึงมีการทำพิธีทางศาสนาเบิกเนตร (ไคกวง) และอัญเชิญเจ้าสู่ที่ประทับ (เซ่งเต่ย) เทพเจ้ากวนอู ฮกลกซิ่ว แปดเซียนสิบแปดอรหันต์ ฯลฯ
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งตรงกับงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และวาระสมโภช ๗๐๐ ปี นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ได้มีการบูรณะศาลเจ้าโดยคณะกรรมการและสมาชิกได้พิจารณาก่อสร้างอาคารหลังใหม่เพื่อทดแทนหลังเก่า เป็นทรงอาคารรูปแบบปัจจุบัน ภายในตกแต่งอย่างสวยงาม แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๔๑
เรียบเรียงโดย นางสาวอริสรา คงประเสริฐ นักจดหมายเหตุ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่.
อ้างอิง :
๑. อรรคพล สาตุ้ม. ๒๕๖๓. ความสัมพันธ์ “ชาวจีน” กับผู้ปกครองเชียงใหม่ผ่านความเชื่อและพิธีกรรมในศาลเจ้าจีน. ศิลปวัฒนธรรม(Online). https://www.silpa-mag.com/culture/article_35144 . สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕.
๒. เชียงใหม่นิวส์. ๒๕๖๒. เสริมสิริมงคลสักการะ ๓ ศาลเจ้าจีนในเชียงใหม่. เชียงใหม่นิวส์ (Online). https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/906850/ . สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 7664 ครั้ง)