พี่นักโบขอต้อนรับสัปดาห์นี้ ด้วยการพาทุกๆคน ไป #เที่ยวทิพย์ ณ หอไตรวัดศรีมงคล : หอไตรกลางน้ำที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ กันครับ
.
#หอไตรวัดศรีมงคล ตั้งอยู่นอกวัดศรีมงคล อำเภอศิลาลาด #จังหวัดศรีสะเกษ โดยตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของวัด ห่างวัดมาประมาณ ๑๐๐ เมตร ลักษณะเป็นหอไตรกลางน้ำ บริเวณโดยรอบเป็นที่นา หอไตรตั้งอยู่กลางสระน้ำมีความกว้างประมาณ ๒๐X๒๐ เมตร หอไตรเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมมีขนาดประมาณ ๓.๙๐X๓.๒๐ เมตร มีระเบียงโดยรอบออกเดินรอบได้มาอีกด้านละ ๑.๕๐ เมตร มีประตู(ป่อง)ทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ไม่มีหน้าต่าง ผนังมีความสูงประมาณ ๒ เมตร เขียนภาพจิตรกรรมบนพื้นไม้ไว้โดยรอบ ค่อนข้างจะลบเลือนโดยเฉพาะทางด้านทิศเหนือ ที่ตอนล่างของผนัง มุมอาคาร และกรอบประตู แกะสลักขอบไม้เป็นลายประดับอยู่ตลอดแนว มีการประดับลายด้วยกระจกกลม
.
จิตรกรรมแบ่งออกเป็นสองตอนคือตอนบนจะเขียนภาพเล่าเรื่อง จากการสำรวจน่าจะเป็นเรื่องในเวสสันดรชาดกและตอนล่างเขียนเป็นภาพเทวดาและลายผูก โดยเขียนตลอดแนวผนังทั้งสี่ด้าน แต่ด้านในไม่มีภาพเขียน ผนังอาคารทั้งสี่ด้านยังคงสภาพดีอยู่ มีร่องรอยสะพานจมอยู่ในน้ำทางด้านทิศเหนือ หลังคาเป็นทรงจั่วสองชั้นมุงด้วยสังกะสี แต่เดิมเป็นไม้แป้นเกล็ด ที่หน้าบันมีร่องรอยการและสลักไม้และเขียนสีประดับแต่ภาพลบเลือนไปเกือบหมดแล้ว
.
สภาพอาคารชำรุด พื้นระเบียงชำรุดมากจากการเสื่อมสภาพของไม้ที่นำมาทำคาน พื้นไม้หลุดออกไปบางส่วน ทำให้ไม่สามารถเดินรอบอาคารได้ เสาหอไตรอยู่ในสภาพชำรุดจากการแช่น้ำมาเป็นเวลานาน ภาพจิตรกรรมส่วนมากลบเลือน จากการสอบถามข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้านและกำนัน ทราบว่า แต่เดิมวัดศรีมงคลอยู่ภายในหมู่บ้านเดิมชื่อวัดศรีสุมังค์ ต่อมาย้ายออกมาอยู่นอกหมู่บ้านนามมากแล้ว แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็นชื่อวัดศรีมงคล เมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมาจึงมีประชาชนเข้ามาอยู่ติดกับวัด แต่เดิมที่รอบวัดเป็นป่าและที่นา หอไตรน่าจะสร้างขึ้นเมื่อวัดย้ายออกมาตั้งในที่ปัจจุบัน
.
อายุของหอไตรวัดศรีมงคลน่าจะมีอายุประมาณเกือบ ๑๕๐ ปีมาแล้ว ซึ่งประมาณจากข้อมูลที่ได้รับว่าผู้เต่าผู้แก่ที่ผ่านมา ๔ ชั่วคนก็เคยเห็นหอไตรนี้แล้ว แต่ภาพจิตรกรรมน่าจะเขียนขึ้นหลังจากสร้างหอไตรไปแล้วเป็นเวลานานเนื่องจากภาพจิตรกรรมแม้จะเขียนแบบจิตรกรรมพื้นถิ่นเล่าเรื่องทศชาติชาดกแต่ก็เขียนด้วยตัวอักษรไทยกำกับไม่ใช้ตัวธรรมอีสาน ภาพเขียนน่าจะเขียนขึ้นเมื่อประมาณ ๖๐-๘๐ ปีมาแล้ว
.
เรียบเรียงนำเสนอโดย นายกิตติพงษ์ สนเล็ก นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี(จำนวนผู้เข้าชม 672 ครั้ง)