หมอเจ้าฟ้า (ตอนที่ ๒)
หมอเจ้าฟ้า (ตอนที่ ๒)
เมื่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรและวิชาสาธารณสุขศาสตร์แล้ว ทรงตั้งพระทัยที่จะนำความรู้มาใช้ประโยชน์ด้วยการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล การวิจัยเรื่องเชื้อโรค การสำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนในแง่สุขาภิบาล ซึ่งทรงปฏิบัติให้สอดคล้องกับงานพัฒนากิจการแพทย์สยามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนแพทยาลัย ทั้งยังทรงช่วยจัดการเรื่องการศึกษาวิชาแพทย์ให้เจริญขึ้น การยกฐานะพื้นความรู้ของนักเรียนแพทย์จากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ขึ้นเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ และทรงสอนนักเรียนแพทย์ด้วยพระองค์เองในวิชากายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ (Comparative Vertebrate Anatomy)
อย่างไรก็ตาม ด้วยฐานันดรศักดิ์ของพระองค์ทำให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ เนื่องจากประเพณีปฏิบัติบางประการของราชสำนัก จึงแจ้งพระประสงค์ที่จะเสด็จไปทำงานในหน้าที่แพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว นายแพทย์เอ็ดวิน ซี.คอร์ท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ตอบรับด้วยความยินดี
วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เสด็จไปทรงงานเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ทรงปฏิบัติหน้าที่แพทย์อย่างเต็มพระกำลัง พระจริยวัตรที่ทรงปฏิบัติกับคนไข้ โดยทรงแสดงออกถึงความเอาพระทัยใส่ ดูแลและให้ความเห็นใจในความทุกข์ร้อนของผู้ป่วยและญาติ ทำให้ทรงเป็นที่ประทับใจของชาวเชียงใหม่ในสมัยนั้น และเรียกพระองค์ว่า “หมอเจ้าฟ้า”
วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงษาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ทรงประชวรด้วยโรคฝีเป็นพิษและโรคพระวักกะ (ไต) พิการ และสิ้นพระชนม์ ในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒
ด้วยทรงปฏิบัติพระภารกิจในการวางรากฐานและสร้างคุณูปการแก่วงการแพทย์ให้เจริญก้าวหน้า บุคลากรทางการแพทย์จึงถวายพระสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้น ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุม เพื่อน้อมเกล้าถวายและเฉลิมพระเกียรติคุณ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ และในวันที่ ๒๔ กันยายน
ปีเดียวกันนี้ นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ คณะแพทยศาสตร์พร้อมด้วยศิริราชพยาบาล ได้มีความเห็นว่าควรยึดถือวันที่ ๒๔ กันยายนของทุกปี เป็นวันที่น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่มีต่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย โดยใช้ชื่อว่า “วันมหิดล” ซึ่งงานวันมหิดลได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยจัดพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า และการนำพวงมาลาสักการะพระราชานุสาวรีย์
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุ ชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. รุ่งทิพย์ สุวรรณอภิชน. ๒๕๕๙. เจ้าดารารัศมี: พระศรีมิ่งเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพมหานคร: เม็ดทรายพริ้นติ้ง.
๒. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ๒๕๕๙. เจ้าฟ้า เจ้าชายในพระพุทธเจ้าหลวง. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.
เมื่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรและวิชาสาธารณสุขศาสตร์แล้ว ทรงตั้งพระทัยที่จะนำความรู้มาใช้ประโยชน์ด้วยการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาล การวิจัยเรื่องเชื้อโรค การสำรวจความเป็นอยู่ของประชาชนในแง่สุขาภิบาล ซึ่งทรงปฏิบัติให้สอดคล้องกับงานพัฒนากิจการแพทย์สยามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ผู้บัญชาการโรงเรียนแพทยาลัย ทั้งยังทรงช่วยจัดการเรื่องการศึกษาวิชาแพทย์ให้เจริญขึ้น การยกฐานะพื้นความรู้ของนักเรียนแพทย์จากชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ขึ้นเป็นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๘ และทรงสอนนักเรียนแพทย์ด้วยพระองค์เองในวิชากายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบ (Comparative Vertebrate Anatomy)
อย่างไรก็ตาม ด้วยฐานันดรศักดิ์ของพระองค์ทำให้เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ เนื่องจากประเพณีปฏิบัติบางประการของราชสำนัก จึงแจ้งพระประสงค์ที่จะเสด็จไปทำงานในหน้าที่แพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว นายแพทย์เอ็ดวิน ซี.คอร์ท ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็ตอบรับด้วยความยินดี
วันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๒ เสด็จไปทรงงานเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลแมคคอร์มิค ทรงปฏิบัติหน้าที่แพทย์อย่างเต็มพระกำลัง พระจริยวัตรที่ทรงปฏิบัติกับคนไข้ โดยทรงแสดงออกถึงความเอาพระทัยใส่ ดูแลและให้ความเห็นใจในความทุกข์ร้อนของผู้ป่วยและญาติ ทำให้ทรงเป็นที่ประทับใจของชาวเชียงใหม่ในสมัยนั้น และเรียกพระองค์ว่า “หมอเจ้าฟ้า”
วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เสด็จกลับกรุงเทพมหานคร ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงษาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ทรงประชวรด้วยโรคฝีเป็นพิษและโรคพระวักกะ (ไต) พิการ และสิ้นพระชนม์ ในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒
ด้วยทรงปฏิบัติพระภารกิจในการวางรากฐานและสร้างคุณูปการแก่วงการแพทย์ให้เจริญก้าวหน้า บุคลากรทางการแพทย์จึงถวายพระสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้น ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุม เพื่อน้อมเกล้าถวายและเฉลิมพระเกียรติคุณ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ และในวันที่ ๒๔ กันยายน
ปีเดียวกันนี้ นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ คณะแพทยศาสตร์พร้อมด้วยศิริราชพยาบาล ได้มีความเห็นว่าควรยึดถือวันที่ ๒๔ กันยายนของทุกปี เป็นวันที่น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่มีต่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย โดยใช้ชื่อว่า “วันมหิดล” ซึ่งงานวันมหิดลได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยจัดพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า และการนำพวงมาลาสักการะพระราชานุสาวรีย์
ผู้เรียบเรียง : นางเกษราภรณ์ กุณรักษ์ นักจดหมายเหตุ ชำนาญการ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่
อ้างอิง :
๑. รุ่งทิพย์ สุวรรณอภิชน. ๒๕๕๙. เจ้าดารารัศมี: พระศรีมิ่งเมืองเชียงใหม่. กรุงเทพมหานคร: เม็ดทรายพริ้นติ้ง.
๒. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ๒๕๕๙. เจ้าฟ้า เจ้าชายในพระพุทธเจ้าหลวง. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มติชน.
(จำนวนผู้เข้าชม 1233 ครั้ง)