เครื่องถ้วยจีน พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี ณ โบราณสถานวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เครื่องถ้วยจีน พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี
ณ โบราณสถานวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
-----
จากการดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดี โบราณสถานวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๔ ที่ผ่านมา มีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญหลายประการ เช่น แนวอิฐ ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินกึ่งมีค่า ชิ้นส่วนเครื่องแก้วสีเขียว อิฐบัว อิฐดินเผา ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินมีลายกดประทับ ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้ง (พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙) ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หยวน (พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐) เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง (พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒) ที่น่าสนใจคือพบว่าชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้พื้นที่โบราณสถานที่ต่อเนื่องยาวนานหลายสมัย จากการขุดค้นพบเครื่องถ้วยจีนทั้งหมด ๑๐๖ ชิ้น สามารถกำหนดอายุได้ ๓ สมัย ได้แก่
๑. สมัยราชวงศ์สุ้ง พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๙ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีเขียว มีแหล่งผลิตจาก “เตาถงอัน มณฑลฝูเจี้ยน” และ “เตาหลงเฉวียน มณฑลเจ้อเจียง” โดยการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาในระยะนี้มักพบบริเวณภาคใต้ ภาคตะวันออกและภาคกลางของประเทศไทย
๒. สมัยราชวงศ์หยวน พุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีเขียว มีแหล่งผลิตจาก “เตาหลงเฉวียน มณฑลเจ้อเจียง” โดยการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาในระยะนี้มักพบบริเวณภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทยมากกว่าภาคใต้ ซึ่งก็สอดคล้องกับจำนวนเครื่องถ้วยจีนที่พบในหลุมขุดค้นที่มีปริมาณน้อยสุดในบรรดาราชวงศ์ต่าง ๆ ที่กำหนดอายุได้
๓. สมัยราชวงศ์หมิง พุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๒ ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาประเภทลายคราม โดยมีแหล่งผลิตจาก “เตาผิงเหอ มณฑลฝูเจี้ยน” และ “เตาจิ่งเติ๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี” โดยการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาในระยะนี้มักพบบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย
จากการขุดค้นพบเครื่องถ้วยจีนดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างโบราณสถานวัดหลง กับจีนสมัยราชวงศ์สุ้งถึงสมัยราชวงศ์หมิง รวมทั้งชุมชนโบราณร่วมสมัยแห่งอื่น ๆ ทั้งในอำเภอไชยา และในคาบสมุทรภาคใต้ของไทย เช่น โบราณสถานวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ แหล่งโบราณคดีทุ่งตึก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา คลองท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเมืองสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์สุ้งและสมัยราชวงศ์หยวน นอกจากนี้ ด้วยลักษณะทำเลที่ตั้งของโบราณสถานวัดหลงซึ่งตั้งอยู่ริมเส้นทางน้ำ ยังเหมาะสมต่อการตั้งชุมชน (โดยพบว่าชุมชนสำคัญในไชยามักตั้งถิ่นฐานอยู่บนแนวสันทรายไชยา และแนวลำคลองไชยา เช่น วัดพระบรมธาตุไชยาฯ วัดแก้ว วัดเวียง และวัดศาลาทึง) และเอื้อต่อการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนโบราณแห่งอื่น ๆ ทั้งในอำเภอไชยา และชุมชนภายนอกจากที่เข้ามาทางฝั่งทะเลตะวันออก โดยมีแหลมโพธิ์เป็นเมืองท่าการค้าสำคัญซึ่งสามารถติดต่อกับต่างชาติได้โดยตรง เนื่องจากอยู่ริมชายฝั่งทะเล และมีบริเวณที่เป็นอ่าวขนาดใหญ่ซึ่งเหมาะแก่การจอดเรือสินค้า ทำให้มีโอกาสรับวัฒนธรรมที่หลากหลายจากบ้านเมืองภายนอกเข้ามา ดังปรากฏจากหลักฐานโบราณสถาน และโบราณวัตถุทั้งที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนา และโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น สินค้าจากจีน (ดังมีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนหลากหลายสมัยในวัดหลง และชุมชนโบราณแห่งอื่น ๆ ในอำเภอไชยา) อินเดีย และตะวันออกกลาง ด้วยความเหมาะสมด้านทำเลที่ตั้งและการเข้ามาของวัฒนธรรมจากต่างชาติดังกล่าว จึงส่งผลให้ชุมชนโบราณไชยามีพัฒนาการและเจริญรุ่งเรืองขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและศาสนาที่สำคัญในสมัยศรีวิชัย และมีการใช้พื้นที่สืบมาจนถึงสมัยหลัง
-----
เรียบเรียง/กราฟิก : นางสาวโสมสินี สุขเกษม นักวิชาการวัฒนธรรม
กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
-----
อ้างอิง
๑. กรมศิลปากร. รายงานการปฏิบัติงานโครงการขุดแต่งและบูรณะวัดหลง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. กรุงเทพฯ : หน่วยศิลปากรที่ ๑๔ กองโบราณกรมศิลปากร, ๒๕๒๕
๒. กรมศิลปากร. แหลมโพธิ์ แหล่งเศรษฐกิจของศรีวิชัย. กรุงเทพฯ : กองโบราณกรมศิลปากร, ๒๕๓๑
๓. ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์. การศึกษาเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถังถึงสมัยราชวงศ์สุ้งที่พบในการขุดค้นแหล่งโบราณคดีเมืองขีดขิน ตำบลบ้านหมอ อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี. ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๐
๔. บุณญฤทธิ์ ฉายสุวรรณ. ทุ่งตึกจุดเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมทางทะเล. สงขลา : ทริโอ ครีเอชั่น, ๒๕๕๒
๕. เพลงเมธา ขาวหนูนา. พัฒนาการทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร), ๒๕๕๗
๖. สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช. โบราณสถานและแหล่งโบราณคดีในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช เล่ม ๒ : สุราษฎร์ธานี. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ ๑๔ นครศรีธรรมราช, ๒๕๕๔
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน1.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน2.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน3.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน4.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน5.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน6.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน7.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน8.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน9.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน10.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน11.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน12.jpeg
ดาวน์โหลดไฟล์: เครื่องถ้วยจีน13.jpeg
(จำนวนผู้เข้าชม 3780 ครั้ง)