วันอัฏฐมีบูชา
"วันอัฏฐมีบูชา" 
วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันถวายพระเพลิงพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๘  วัน ตรงกับวันแรม ๘  ค่ำ เดือน ๖ (เดือนวิสาขะ) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๔
ในปฐมสมโพธิกถา ปริเฉทที่ ๒๗ ธาตุวิภัชนปริวรรต กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากที่พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานว่า ในครั้งนั้นเหล่ากษัตริย์มัลลราช ได้นำของหอม ดอกไม้ ผ้าสาฎก ๕๐๐ คู่ และประโคมด้วยเครื่องดนตรีหลากชนิด เพื่อบูชาและตกแต่งพระบรมศพพระพุทธเจ้า โดยทำการสักการบูชาอยู่ ๖ วัน 
ครั้นถึงวันที่ ๗ กษัตริย์มัลลราชทั้ง ๘ องค์ จึงมีดำริจะอัญเชิญพระบรมศพพร้อมด้วยเครื่องสักการบูชาและเครื่องดนตรีทั้งหลาย ไปทางทิศตะวันออกไปสู่มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา เพื่อถวายพระเพลิง และปรึกษาพระอานนท์ว่าจะตกแต่งพระบรมศพอย่างไรจึงจะเหมาะสม พระอานนท์กล่าวแก่เหล่ากษัตริย์ว่า “ให้หุ้มห่อพระศพพระชินสีห์ด้วยพระภูษาจนถ้วนได้ ๕๐๐ ชั้น แล้วจงเชิญลงในพระหีบทองอันเต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วให้เชิญพระหีบขึ้นสู่พระเชิงตะกอน อันประกอบด้วยสรรพสิ่งเสาวคนธชาติ จึงถวายพระเพลิง” 
กษัตริย์มัลลราชกระทำตามคำพระอานนท์ทุกประการ แต่ไม่สามารถจุดไฟที่เชิงตะกอนให้ติดได้ จึงสอบถามสาเหตุจากพระอนุรุทธเถระ พระอนุรุทธเถระจึงบอกว่า "อธิบายแห่งเทพยดาทั้งหลายจะคอยท่าพระมหากัสสปเถรอันเป็นพระสาวกผู้ใหญ่ก่อน เบื้องว่าพระมหากัสสปยังมิได้มานมัสการพระบาทยุคลพระทศพลตราบใดเพลิงก็ยังมิได้ไหม้พระเชิงตะกอนตราบนั้น”
เมื่อพระมหากัสสปะเดินทางมาถึงสถานที่ถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ จึงน้อมนมัสการพระบรมศพ ครั้นเปลวเพลิงก็ลุกท่วมพระสรีระของพระศาสดา ด้วยอำนาจของเทวดา ในการเผาไหม้นี้ ไม่มีควันหรือเขม่าใด ๆ ฟุ้งขึ้นเลย ภายหลังจากถวายพระเพลิงพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าแล้ว โทณพราหมณ์ได้เข้ามาเป็นคนกลางในการแบ่งพระธาตุ โดยการจัดแบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่า ๆ กัน มอบให้แก่กษัตริย์ ผู้ครองนครต่าง ๆ รวมทั้งเทวดา พรหม และนาค มาอัญเชิญไปบูชายังสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
“พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำฝ่ายขวาก็ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองกาลึงคราษฐ์ กาลบัดนี้ไปสถิตอยู่ในลังกาทวีป พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนฝ่ายซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราษฐ์ พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำฝ่ายซ้ายไปประดิษฐานอยู่ในนาคพิภพ พระรากขวัญเบื้องช้ายกับพระอุณหิศ ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสเจดีย์ ณ พรหมโลก พระทนต์ทั้ง ๓๖ แลพระเกศาโลมาแลพระนขาทั้ง ๒๐ นั้นเทพยดานำไปองค์ละองค์สู่จักรวาลต่างๆ ต่อๆ กันไป แลพระปริขารธาตุทั้งหลายนั้นพระกายพันธน์ไปสถิตอยู่ ณ เมืองปาตลีบุตร”
 
ภาพ: จิตรกรรมพุทธประวัติ เขียนบนไม้กระดานคอสอง ภายในอุโบสถหลังเก่า วัดท้าวโคตร  อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ปริเฉทที่ ๒๗ (ธาตุวิภัชนปริวัตต์) เล่าเรื่องตอนอัญเชิญพระบรมศพของพระพุทธเจ้าไปยังมกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา และพระมหากัสปะมานมัสการพระบรมศพ / ภาพด้านซ้ายเป็นขบวนแห่พระบรมศพซึ่งทรงเครื่องประดับอันมีชื่อว่ามหาลดาปสาธน์ แวดล้อมด้วยพระสงฆ์สาวก และเหล่ามัลลกษัตริย์ ภาพกลางเป็นภาพเครื่องดนตรีสมโภชน์พระบรมศพ และภาพด้านขวาเป็นภาพพระมหากัสปะน้อมนมัสการพระบรมศพของพระพุทธเจ้า
เรียบเรียง/ภาพ: นภัคมน ทองเฝือ นักโบราณคดีชำนาญการ
อ้างอิง:
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. พระปฐมสมโพธิกถา . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธรรมบรรณาคาร, ๒๕๓๙.
ดาวน์โหลดไฟล์: วันอัฏฐมีบูชา.jpeg

(จำนวนผู้เข้าชม 3725 ครั้ง)

Messenger