เจ้ามหาเทวีสร้างพระพุทธรูป
องค์ความรู้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย
#เจ้ามหาเทวีสร้างพระพุทธรูป
จารึกทองจังโก องค์ระฆัง วัดพระธาตุหริภุญไชย
_พระธาตุหริภุญไชยเป็นเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนา
มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันนผังสี่เหลี่ยมยกเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวคว่ำบัวหงาย ท้องไม้ประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ จำนวน ๓ ชั้น รองรับองค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนยอดของเจดีย์
_พระธาตุหริภุญไชย จากหลักฐานประเภทตำนานกล่าวว่าเป็นคูหาผังสี่เหลี่ยม ได้รับการบูรณะในสมัยราชวงศ์มังราย จนมีสภาพที่เห็นในปัจจุบัน ตกแต่งด้วยการปิดทองคำเปลวลงบนแผ่นโลหะที่เรียกว่าทองจังโก หรือจังโก๋ แต่ละส่วนพบว่ามีการจารึกข้อความ รวมทั้งพระพุทธรูปที่จะได้กล่าวถึงต่อไป
#จารึกเจ้ามหาเทวีสร้างพระพุทธรูป #ลพ๔๖ มีจำนวนทั้งสิ้น ๒๐ บรรทัด ได้รับการอ่าน และปริวรรตโดย นายเทิม มีเต็ม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๕ ก่อนหน้านั้น นายสมชาย คงวานชโรจน์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ วัดพระธาตุหริภุญชัยเป็นผู้พบและได้แจ้งให้กรมศิลปากรทราบ ซึ่งจารึกดังกล่าวได้ปรากฏใกล้กับพระพุทธรูปดุนนูนปางลีลา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ได้อิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย ที่แพร่เข้ามาในล้านนาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ตรงกับรัชสมัยพระเจ้ากือนา ที่ทรงอาราธณาพระมุมนเถระจากสุโขทัยขึ้นมายังดินแดนล้านนา
#เจ้ามหาเทวี แปลว่านางผู้ยิ่งใหญ่ ในประวัติศาสตร์ล้านนาก็คือกษัตริย์ผู้เป็นสตรีหรือสตรีของพระเจ้าแผ่นดิน ในจารึกนี้ยังระบุอีกว่าทรงเป็น #แม่แก่เจ้าพระญาทั้งสองพี่น้อง หมายความว่าเป็นพระมารดาแห่งกษัตริย์ล้านนาที่ทรงเป็นพี่น้องกัน แต่เดิมมีการสันนิษฐานในแนวทางแรกคือ “พระมหาเทวีอโนชา” หรือ “พระนางโป่งน้อย” มเหสีของพระยายอดเชียงราย แห่งราชวงศ์มังราย (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๐-๒๐๓๘) ที่มีพระโอรสสองพระองค์คือ พระเมืองแก้วและพระเมืองเกษเกล้า ซึ่งมีเพียงชินกาลมาลีปกรณ์เท่านั้นที่กล่าวถึงว่ากษัตริย์ ๒ พระองค์นี้ เป็นพี่น้องกัน ไม่พบในหลักฐานอื่นใดเลย
_แนวทางต่อมาเชื่อว่า เจ้ามหาเทวีนั้น หมายถึง “พระนางจิตราเทวี” พระมเหสีในพระเจ้าผายู(พ.ศ. ๑๘๗๙-๑๘๙๘) พระมารดาของพระเจ้ากือนากับท้าวมหาพรม เจ้าเมืองเชียงราย อันเป็น“เจ้าพระญาสองพี่น้อง” เมื่อพิจารณาจากรูปแบบตัวอักษรแล้ว ไม่ควรเก่าไปกว่าจารึกวัดพระยืน รวมไปถึงรูปแบบของพระพุทธรูปคล้ายกับศิลปะสุโขทัยที่รับอิทธิพลมาทางพระมหาสุมนเถระนั่นเอง
_ถึงแม้ว่าหลักฐานดังหล่าวจะตรงกับสมัยพระเจ้ากือนา แต่กลับไม่พบหลักฐานใดที่กล่าวถึงการบูรณะพระธาตุหริภุญไชยในสมัยของพระองค์เลย อาจเป็นเพราะว่าในสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นยุคที่นิกายวัดป่าแดงรุ่งเรือง ขณะที่นิกายสวนดอกในสมัยพระเจ้ากือนา ได้รับความนิยมอย่างมาก จึงทำให้มีการทำลายหลักฐานเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้ากือนาไปเสียสิ้น จนไม่เหลือหลักฐานในสมัยของพระองค์
อ้างอิง
_เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์. พระธาตุหริภุญไชย. กรุงเทพฯ: ถาวรกิจการพิมพ์, ๒๕๕๓.
_ศักดิ์ชัย สายสิงห์. รายงานการวิจัยเมืองลำพูนจากหลักฐานโบราณคดี ศิลปะและเอกสารทางประวัติศาสตร์ เสนอต่อ สำนักศิลปากรที่ ๘ เชียงใหม่ กรมศิลปากร. (ม.ป.ท.: ม.ป.พ), ๕๕๕๒.
_ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (๒๕๖๔). จารึกเจ้ามหาเทวีสร้างพระพุทธรูป. สืบค้นเมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๖๔, จาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/image_detail/2
(จำนวนผู้เข้าชม 2201 ครั้ง)