ตุงไส้หมู ตุง ๑๒ ราศี
องความรู้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย
เรื่อง ตุงไส้หมู ตุง ๑๒ ราศี เนื่องในเทศกาลสงกรานต์
เทศกาลสงกรานต์ ชาวภาคเหนือจะเรียกเทศกาลปีใหม่
หากเราไปตามวัดในภาคเหนือขณะนี้จะพบการนำธงสีที่ทำจากกระดาษตัดเป็นรูปทรงต่างๆกันไปปักตามกองทรายที่มาพูนขึ้นเป็นเจดีย์
ธงสีหรือตุงที่ประดับอยู่นั้นเชื่อว่าเมื่อนำไปถวายแล้ว มีความเชื่อว่าสามรถช่วยดวงวิญญาณให้หลุดพ้นจากขุมนรกได้ และยังส่งผลให้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี เพียบพร้อมไปด้วยสมบัติบริวาร ซึ่งตุงที่พบเห็นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้แก่
๑.ตุงไส้หมู หรือ ตุงไส้ช้าง
ตุงไส้หมูหรือตุงไส้ช้าง ลักษณะคือทำจากกระดาษว่าวที่มีสีสันสดใสพับและตัดจะได้รูปทรงนำไปแขวนกับไม้ไผ่ใช้ปักลงบนเจดีย์ทรายเนื่องในวันพญาวัน เมื่อปักแล้วจะทิ้งชายลงมาคล้ายกับรูปทรงของเจดีย์ บางแห่งเรียกตุงไส้ช้าง บางแห่งเรียอกช่อพญายอ ภาคกลางเรียกพวงมโหตร ใช้สำหรับปักเพื่อบูชาพระเจดีย์ พระธาตุประจำปีเกิด ควบคู่กับตุง ๑๒ ราศี
๒. ตุง ๑๒ ราศี
ตุง ๑๒ ราศี เป็นตุงที่ทำจากระดาษ ยาวประมาณ ๑ เมตร กว้างราว ๕-๖ นิ้ว ติดรูปปีนักษัตรทั้ง ๑๒ ราศี เริ่มจากปีใจ้หรือปีชวด (หนู) เรื่อยไปจนถึงปีใค้หรือปีกุน ซึ่งก็คือปีหมู ต่อมาเปลี่ยนเป็นช้างแทน ตามความเชื่อเรื่องปีนักษัตรหรือปีเปิ้งคประจำตัวแต่ละคน จึงเรียกตุงชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่าตุงเปิ้ง ใช้ปักประดับตามเจดีย์ทราย ซึ่งตัวเปิ้งหรือตัวนักษัตรนั้นคือตัวแทนของผู้ถวายตุง มีความเชื่อว่าจะช่วยให้พ้นเคราะห์ได้ ใช้ปักควบคู่กับตุงไส้หมู
นอกจากการถวายตุงแล้วยังมีการถวายไม้ค้ำโพธิ์หรือไม้ค้ำสะหลี ซึ่งคำว่า สะหลี หมายถึงต้นโพธิ์ ซึ่งมีความเชื่อว่าหากถวายไม้ต้ำโพธิ์เป็นการช่วยค้ำชูพระพุทธศาสนาสืบไป
อ้างอิง
มณี พยอมยงค์ และศิริรัตน์ อาศนะ. เครื่องสักการะล้านนาไทย. เชียงใหม่:ส.ทรัพย์การพิมพ์, ๒๕๓๘.
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.(๒๕๖๔).ตุงตั๋วเปิ้ง.
สืบค้นเมื่อ ๑๔ เมษายน๒๕๖๔, จากhttps://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/1276
(จำนวนผู้เข้าชม 5284 ครั้ง)