พระพิมพ์กลีบบัว
พระพิมพ์กลีบบัว
พระพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมมน ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับขัดสมาธิราบบนฐานบัว ครองจีวรห่มคลุม อุษณีษะทรงกรวย ขมวดพระเกศาใหญ่ พระพักตร์กลม พระโอษฐ์หนา พระนาสิกแบน ประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานบัวมีกลีบขนาดใหญ่ รอบพระวรกายมีแนวเส้นรอบเรียกว่า ประภาวลี หมายถึงรัศมีหรือแสงที่ปรากฏกายของพระพุทธเจ้า ขนาบด้วยสถูปทรงหม้อน้ำยอดแหลมสูง ถัดขึ้นไปเป็นเครื่องสูงชนิดต่างๆ เช่น แส้ พัด และกลด เหนือพระเศียรกางกั้นด้วยฉัตร หรือร่ม
พระพิมพ์ ๒ องค์นี้ พบในวัดจามเทวี(กู่กุด) จังหวัดลำพูน และเวียงมโน ซึ่งปัจจุบันอยูในพื้นที่ต.หนองตอง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่มีการสันษฐานว่าเป็นเมืองบริวารของหริภุญไชย พบศิลาจารึกอักษรมอญโบราณ เครื่องปั้นดินเผา แนวคันดินที่ปัจจุบันเสื่อมสภาพไปแล้ว ลักษณะของพระพิมพ์องค์นี้ คล้ายกับพระพิมพ์และพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีที่พบในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำหนดอายุไว้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งเป็นยุคทวารวดีตอนปลาย ที่แพร่ขยายมาจากภาคกลางของประเทศไทย สอดคล้องกับการพบหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ เช่น ตุ๊กตาคนจูงลิง และหม้อมีสันที่บริเวณเจดีย์เชียงยัน วัดพระธาตุหริภุญชัย
อ้างอิง
โขมสี แสนจิตต์. “เมืองโบราณหริภุญไชยจากหลักฐานโบราณคดี.” วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๒.
สุรพล ดำริห์กุล. ประวัติศาสตร์และศิลปะหริภุญไชย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๔๗.
กรมศิลปากร. สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ. ศิลปะทวารวดี : ต้นกำเนิดพุทธศิลป์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๕๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 3425 ครั้ง)