...

จารึกอักษรฝักขามในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ได้ทำการปรับปรุงการจัดแสดงห้องศิลาจารึก ที่ได้เก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์มาเป็นเวลานาน และมีจำนวนมากที่สุดในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในภาคเหนือ โดยแบ่งเป็นจารึกอักษรมอญโบราณ และอักษรฝักขาม พบบริเวณอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และบริเวณโดยรอบ อักษรฝักขาม หมายถึง ตัวอักษรที่ใช้บันทึกเรื่องราว ลงบนศิลาจารึกในอาณาจักรล้านนา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๔ มีลักษณะที่ใกล้เคียงอักษรโบราณในสมัยสุโขทัย ลักษณะตัวอักษรจะโค้งและผอมสูงมากกว่าจึงเรียกว่าตัวอักษรฝักขาม ซึ่งได้แบบอย่างไปจากอักษรสมัยสุโขทัยสมัยพระเจ้าลิไท เมื่อครั้งพระยากือนาโปรดให้พระราชทูตไปอาราธนาพระสุมนเถระขึ้นไปฟื้นฟูพระศาสนาที่เชียงใหม่ ดังปรากฏหลักฐานในจารึกวัดพระยืน จังหวัดลำพูน ที่ถือว่าเป็นจารึกอักษรไทย ภาษาไทยเก่าแก่ที่สุดที่พบในล้านนา ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นอักษรฝักขามจนได้รับความนิยมก่อนที่จะมีการนิยมใช้อักษรธรรมล้านนาแทนที่ในสมัยต่อมา เนื้อหาของจารึกส่วนใหญ่ที่ปรากฏในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยนี้ ล้วนเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา การกัลปนาข้าคน ไร่นา จนถึงประวัติการสร้างวัด จารึกตัวอักษรฝักขามที่เก่าแก่ที่สุดคือจารึก กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ลพ. ๙ ระบุ พ.ศ. ๑๙๕๔ พบที่จังหวัดพะเยา (ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงแสน) ปัจจุบันจารึกอักษรฝักขามในพิพิภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย มีจำนวนทั้งสิ้น หลัก วัสดุทำจากหินทราย รูปทรงส่วนมากมีทั้วที่แกะเป็นแผ่นทรงใบเสมา และเป็นแท่งคล้ายศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พบในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย และในเขตจังหวัดลำพูน ส่วนมากกำหนดอายุอยู่ในช่วงรัชกาลพระเมืองแก้ว กษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย สำหรับโพสต์นี้ ขอนำเสนอจารึกอักษรฝักขามบางส่วน สำหรับจารึกหลักอื่นๆ ทางพิพิธภัณพสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จะได้นำมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป

(จำนวนผู้เข้าชม 2942 ครั้ง)


Messenger