ห้องโถงยาว
เริ่มด้วยการจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ สมัยก่อนหริภุญไชยที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ต่อจากนั้นเป็นการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุสมัยประวัติศาสตร์ ที่จัดแสดงตามลักษณะทางศิลปะได้ 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มศิลปะหริภุญไชย ศิลปกรรมในกลุ่มนี้อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มที่มีอายุก่อนพุทธศตวรรษที่ 17 (ก่อน พุทธศักราช 1600) มีทั้งที่แสดงถึงอิทธิพลของศิลปะอินเดียแบบปาละ และที่แสดงอิทธิพลศิลปะทวารวดี เช่น กลุ่มเศียรพระพุทธรูปศิลา
2. กลุ่มที่มีอายุระหว่างพุทธศักราช 1600 - พุทธศักราช 1835 เป็นศิลปะที่แสดงอัตลักษณ์เฉพาะของหริภุญไชย อันมีวิวัฒนาการสืบต่อจากกลุ่มแรก มีลักษณะพิเศษของศิลปะทวารวดีโดยทั่วๆ ไป กล่าวคือ พระขนงเป็นต่อเป็นปีกกา พระเนตรโปนเหลือบต่ำปลายชี้ พระโอษฐ์แย้มแบบแสยะ พระนาสิกบาน ภาชนะดินเผาเนื้อละเอียดสีเหลืองนวลมีหลายรูปทรงประดับด้วยลายขูดขีดแบบเชือกทาบ ส่วนใหญ่ใช้บรรจุอัฐิ นอกจากนั้นเป็นคนโฑ มีรูปแบบคล้ายคลึงกับคนโฑน้ำที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในภาคเหนือ
กลุ่มศิลปะล้านนา มีอายุในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 19 - 25 จำแนกตามลักษณะทางศิลปะได้ 4 กลุ่มดังนี้
1.ศิลปกรรมกลุ่มที่แสดงให้เห็นถึงการแสวงหาเอกลักษณ์ของตัวเอง จึงมีทั้งกลุ่มที่รับอิทธิพลของเขมร อิทธิพลของหริภุญไชย และอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบปาละ
2.ศิลปกรรมกลุ่มที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของศิลปะล้านนาอย่างเต็มที่ กล่าวคือ มีเอกลักษณ์ของตนเองอย่างแน่นอน ในขณะเดียวกันก็ดึงเอาความงามตามแบบอย่างศิลปะร่วมสมัยของสุโขทัยและอยุธยาเข้ามาผสมผสานบ้างเล็กน้อยทำให้เกิดสุนทรียภาพในระดับสากล
3.ศิลปกรรมกลุ่มที่แสดงลักษณะพื้นเมืองประจำท้องถิ่น เช่น พะเยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังรับอิทธิพลของล้านช้างจากลาวมาผสมผสานด้วยนอกจากงานพุทธศิลป์แล้ว ศิลปกรรมที่โดดเด่นอีกประเภทคือ เครื่องเคลือบดินเผาจากเตาแหล่งต่างๆ เช่น สันกำแพง เวียงกาหลง ทุ่งเตาไห พาน เป็นต้น
4.ศิลปกรรมกลุ่มที่สร้างขึ้นร่วมสมัยกับศิลปรัตนโกสินทร์ มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะไทยแบบต่างๆ โดยมากเป็นงานหัตถศิลป์ ประณีตศิลป์ ที่ใช้สำหรับถวายพระทำด้วยวัสดุมีค่า เช่น ดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง ช้าง ม้าจำลอง และเครื่องไม้แกะสลักต่างๆ เช่น สัตตภัณฑ์ ฯลฯ อันแสดงถึงเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมล้านนา
(จำนวนผู้เข้าชม 951 ครั้ง)