...

ลูกปัดแก้วสีส้ม


ชื่อวัตถุ ลูกปัดแก้วสีส้ม

ทะเบียน ๒๗/๑๗/๒๕๕๘

อายุสมัย แรกเริ่มประวัติศาสตร์

วัสดุ(ชนิด) แก้ว

แหล่งที่พบ เป็นของกลางตามคดีอาญาเลขที่ ๑๒๒/๒๕๕๗ลงวันที่ ๙เมษายน๒๕๕๗ของสถานีตำรวจภูธรคลองท่อม อ.คลองท่อม จ.คลองท่อมสำนักศิลปากรที่ ๑๕ภูเก็ต มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง เมื่อวันที่ ๑๑มีนาคม ๒๕๕๘

สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

“ลูกปัดแก้วสีส้ม”

ลูกปัดแก้วทรงกระบอกสีส้ม เป็นลูกปัดที่มีขนาดเล็กมากและมีขนาดที่แตกต่างกัน ลูกปัดรูปแบบนี้นิยมเรียนว่า “ลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิค (Indo-Pacific Beads)”หรือ “ลูกปัดลมสินค้า”(Trade winds beads)เนื่องจากได้มีการค้นพบลูกปัดรูปแบบนี้กระจายตัวอยู่ในบริเวณมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิค โดยพบตามเมืองท่าโบราณต่างๆ ทั้งในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลูกปัดแก้วเหล่านี้คงเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าที่มากับเรือเดินสมุทรซึ่งต้องอาศัยลมมรสุมในการเดินทาง อันเป็นที่มาของชื่อ “ลูกปัดลมสินค้า”

ลูกปัดแก้วสีส้มขนาดเล็กเหล่านี้ทำด้วยวิธีการนำแก้วมาหลอมโดยใช้ความร้อน จากนั้นจึงนำมาดึงยืดเป็นเส้นและตัดที่ละลูกจึงทำให้ลูกปัดมีขนาดที่ต่างกัน ลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิคมีแหล่งกำเนิดและแหล่งผลิตหลักในประเทศอินเดียในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๕ และได้แพร่กระจายไปยังดินแดนต่างๆ ทั้งในเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออก สำหรับในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบที่ประเทศอินโดนีเซียที่เกาะสุมาตรา มาเลเซีย เวียดนาม สำหรับในประเทศไทยพบในหลายพื้นที่ อาทิ ภาคกลาง และภาคใต้ เป็นต้น

ในพื้นที่ภาคใต้พบกระจายตัวอยู่ตามแหล่งโบราณคดีสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๖ – ๙ เช่น แหล่งโบราณคดีคลองท่อม (ควนลูกปัด) จังหวัดกระบี่ ภูเขาทอง จังหวัดระนอง เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร โคกทอง จังหวัดสงขลา และยังได้พบลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิคในแหล่งโบราณคดีซึ่งมีลักษณะที่เป็นเพิงผาและถ้ำต่างๆ เช่นเขาตาหมื่นนี ถ้ำถ้วย จังหวัดชุมพร เพิงผาปาโต๊ะโระ จังหวัดสตูล และที่เพิงผาทวดตาทวดยาย จังหวัดสงขลา โดยได้พบโครงกระดูกซึ่งมีลูกปัดแก้วเม็ดเล็กสีส้มวางบนโครงกระดูก ซึ่งเป็นหลักฐานว่าคนในสมัยก่อนได้นำลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิคมาใช้เป็นเครื่องประดับร่างกาย

ลูกปัดแบบอินโด-แปซิฟิคจึงถือเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงการความนิยมการสวมใส่ลูกปัดเป็นเครื่องประดับกายของคนในอดีต การพบลูกปัดรูปแบบนี้ในพื้นที่ที่เป็นถ้ำและเพิงผายังประเด็นที่น่าสนใจซึ่งอาจเป็นหลักฐานการติดต่อระหว่างกลุ่มคนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งกระจายตัวอยู่ตามถ้ำและเพิงผาต่างๆ และกลุ่มคนที่อยู่ในบริเวณเมืองท่าต่างซึ่งมีการกับต่างแดนและการผลิตลูกปัด ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

- ผุสดี รอดเจริญ, “การวิเคราะห์ลูกปัดแก้วจากเมืองโบราณสมัยทวารวดี ในภาคกลางของประเทศไทย.” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๕๖

- สารัทชลอสันติสกุล และคณะ. รายงานการสำรวจแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ชุมพร. นครศรีธรรมราช : สำนักศิลปากรที่ ๑๔นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร, ๒๕๕๗.

- พรทิพย์ พันธุโกวิท และคณะ. โครงการเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลาและสตูล.กรุงเทพฯ : บริษัท บางกอกอินเฮ้าจำกัด, ๒๕๕๗.

(จำนวนผู้เข้าชม 1716 ครั้ง)


Messenger