...

พระพิมพ์ดินดิบ


ชื่อวัตถุ พระพิมพ์ดินดิบ

ทะเบียน ๒๗/๒๔๖/๒๕๕๕

อายุสมัย ศรีวิชัย(?)

วัสดุ(ชนิด) ดินดิบ สีน้ำตาลเทา

แหล่งที่พบ แหล่งโบราณคดีเขานุ้ย หมู่ ๑๒ ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง นายถนอม อินทรภิรมย์ ๑๙ หมู่ ๙ ตำบลนาวงอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มอบให้วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๕ สำนักศิลปากรที่ ๑๕ ภูเก็ต มอบให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลางวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๕

สถานที่เก็บรักษา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง

“พระพิมพ์ดินดิบ”

พระพิมพ์ดินดิบรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายอดโค้งมน ด้านหน้าตรงกลางเป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทใต้ซุ้มขนาดเล็กซึ่งทำเป็นลายใบไม้ ขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์ทั้งสองด้าน เหนือซุ้มขึ้นไปเป็นรูปธรรมจักรหันด้านข้างซึ่งขนาบข้างด้วยรูปบุคคล ด้านหลังพบจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต อ่านว่า “เย ธรฺมาฯ” ซึ่งเป็นจารึกหลักธรรม “อริยสัจสี่” จำนวน ๔ บรรทัด อ่านและแปลได้ว่า ทุะข (ทุกข์) สมุทย (สมุทัย) นิเราธ (นิโรธ) มารคค (มรรค)กำหนดจากรูปแบบจากตัวอักษรอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๖ (อ่านและแปลความโดยนางสาวก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอักษรศาสตร์)

พระพิมพ์เป็นรูปเคารพในศาสนาพุทธ ศาสตราจารย์อัลเฟรด ฟูเช่ (Alfred Foucher) ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาศาสนาพุทธ กล่าวว่า การสร้างพระพิมพ์ในช่วงแรกทำขึ้นเพื่อเป็น “ของที่ระลึกในการเดินทางไปยังสังเวชนียสถาน” ซึ่งเป็นสถานที่ ๔ แห่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า หากผู้ใดเดินทางมายังสถานที่ทั้งสี่ด้วยใจศรัทธาจะถึงสุคติโลกสวรรค์ ชาวพุทธจึงนิยมเดินทางไปจาริกแสวงบุญ ณ สถานที่ทั้ง ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ(เมืองลุมพินี) สถานที่ตรัสรู้(เมืองพุทธคยา) สถานที่แสดงปฐมเทศนา (เมืองสารนาถ) และสถานที่ปรินิพพาน(เมืองกุสินารา) ต่อมาได้มีการเพิ่มสถานที่แสวงบุญอีก ๔ แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญในพุทธประวัติ คือ สถานที่ปราบช้างนาฬาคีรี(เมืองราชคฤห์) สถานที่รับบาตรจากพระยาวานร(เมืองเวสาลี) สถานที่แสดงมหาปาฏิหาริย์หรือยมกปฎิหาริย์(เมืองสาวัตถี) และสถานที่เสด็จลงจากดาวดึงส์ (เมืองสังกัสสะ) เมื่อพุทธศาสนิกชนได้เดินทางไปยังสังเวชนียสถานแล้ว คงมีผู้คิดทำพระพิมพ์เพื่อเป็นของที่ระลึกถึงการเดินทางมาจาริกแสดงบุญในครั้งนั้น

ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พบพระพิมพ์ที่มีจารึกคาถา “เย ธรฺมาฯ” ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า นักวิชาการเชื่อว่าการจารึกคำสอนนี้เป็นคติที่เกี่ยวข้องกับคำทำนายที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์บางเล่ม อาทิ มิลินทปัญหา ซึ่งได้กล่าวถึงคำทำนายที่พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ ความว่า “ดูกรอานนท์ พระสัทธรรมของตถาคด จะตั้งอยู่นานประมาณกำหนด ๕๐๐๐ ปี” ด้วยคำทำนายนี้ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ (George Coedes) จึงได้เสนอความคิดเห็นว่า พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมลงเมื่อครบอายุ จึงคิดทำพระพิมพ์และได้นำไปฝังในถ้ำหรือสถูปต่างๆ เป็นจำนวนหลายพันองค์ โดยหวังว่าในอนาคตอาจมีผู้บังเอิญขุดพบพระพิมพ์ที่มีรูปของพระพุทธเจ้าหรือหลักธรรมของพระองค์ พระพิมพ์นั้นอาจเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้พบเห็นเกิดความเลื่อมใสและเชื่อถือในศาสนาพุทธอีกครั้ง

สำหรับพระพิมพ์องค์นี้พบที่แหล่งโบราณคดีเขานุ้ย จังหวัดตรัง ซึ่งได้พบพระพิมพ์จากการดำเนินงานทางโบราณคดี จำนวนมากกว่า ๔๐๐ องค์ ถูกฝังอยู่ในพื้นของถ้ำ พระพิมพ์ที่พบจากถ้ำเขานุ้ยจึงถือเป็นตัวแทนในการสืบทอดพระพุทธสาสนา ตามคำทำนายที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์

เอกสารอ้างอิง

- ธราพงศ์ ศรีสุชาติ. “ตะกั่วป่า : ชุมชนโบราณ,” สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ๓ (๒๕๔๒): ๒๕๓๕ –๒๕๕๖.

-บริบาลบุรีภัณฑ์, หลวง (ป่วน อินทุวงศ์).“เรื่องของพระพิมพ์,” เรื่องโบราณคดี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ รุ่งเรืองรัตน์, ๒๕๐๓.

-พิริยะ ไกรฤกษ์. “พระพิมพ์ : ที่พบในภาคใต้ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๐,” สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ ๑๐ (๒๕๔๒): ๕๐๔๑ – ๕๐๖๓.

-ภานุวัฒน์เอิ้อสามาลย์. ปฏิบัติการขุดกู้พระพิมพ์ดินดิบเขานุ้ย จังหวัดตรัง ปี ๒๕๕๕. (เอกสารยังไม่พิมพ์เผยแพร่).

-สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์, หม่อมหลวง. “การศึกษาพระพิมพ์ภาคใต้ของประเทศไทย” วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๘.

(จำนวนผู้เข้าชม 6698 ครั้ง)