แผ่นศิลาจำหลักพระพุทธรูปปางสมาธิ
เลขทะเบียน ๐๙/๓๒๓/๒๔๙๗
ศิลปะทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๕
หินทราย ขนาด สูง ๑๒๐ เซนติเมตร กว้าง ๖๔.๕ เซนติเมตร
พบที่ เมืองเสมา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา
แผ่นศิลาจำหลักพระพุทธรูปปางสมาธิ ด้านบนสลักเป็นรูปโค้งสอบขึ้นไปแบบกลีบบัว บริเวณกึ่งกลางของแผ่นศิลาสลักเป็นภาพพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัวหงายอยู่ในซุ้มประตู พระพุทธรูปมีพระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรปิดสนิท พระนาสิกแบน พระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดขนาดใหญ่ อุษณีษะนูนขึ้นมา พระกรรณยาว พระศอเป็นปล้อง พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาด้านขวา ชายสังฆาฏิยาวจรดพระอุระด้านซ้าย
ด้านบนของพระพุทธรูปมีสถูปทรงหม้อน้ำหรือปูรณฆฏะ ตั้งอยู่บนฐานรูปบัวหงาย และมีอักษรจารึกที่กรอบซุ้มเฉพาะส่วนซ้ายวนขึ้นไปกรอบบน ความในจารึก คือ เย ธมฺมา เหตุ ปฺปภวา เหตุมํ เตสํ ตถาคโต เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํ วาที มหาสมโณ แปลว่า ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคตกล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้ แต่จารึกนี้มีสภาพชำรุด อักษรข้อความเหลือไม่จบคาถา ซึ่งคาถาบทนี้เป็นคาถาแสดงพระอริยสัจ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พระอัสชิ ปัญจวัคคีย์ องค์หนึ่งแสดงแก่พระสารีบุตรก่อนออกบวช ภายหลังได้นิยมนำคาถาบทนี้ไปจารึกลงบนเหรียญ พระพิมพ์ และสลักลงบนภาพสลักเนื่องในพุทธศาสนา
Carved Stone Buddha Image in Meditation Posture
Registration No. 09/323/2497
Dvaravati Style, ca. 9 - 10th Century
Sandstone, Height 120 cm. Width 64.5 cm.
Found at Mueang Sema, Sung Noen district, Nakhon Ratchasima province and donated by Somdet Phra Maha Viravong to the Fine Arts Department in 1927.
The Buddha image has a slightly squares face, the eyebrows connect above the nose, eyes are downcast, the nose is flat, the lips are thick and the ears are long. The hair has large curls with a cone-shaped knot. The Buddha is sitting in the meditation mudra on a lotus base.
Above the Buddha is a stupa and an inscription. The inscription refers to the Dhamma of the Buddha (the teachings of the Buddha). Unfortunately, part of the inscription has disappeared. This passage is very important and was referred to as the Heart of Buddhism. In addition, these passages were frequently engraved on medals, Buddha votive tablets and Buddhist sculptures.