ก้าวแรกของไทยไปงานมหกรรมโลก
องค์ความรู้เรื่อง ก้าวแรกของไทยไปงานมหกรรมโลก
งานมหกรรมโลก (World Exposition) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่างาน Expo ถือเป็นงานแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและดำเนินการจัดมายาวนานกว่า ๑๖๙ ปี จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ (ค.ศ. ๑๘๕๑) ณ คริสตัล พาเลซ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อมาเป็นงานระดับนานาชาติที่ดำเนินการจัดทุก ๆ ๕ ปี มีระยะเวลาราว ๖ เดือน โดยหมุนเวียนประเทศเจ้าภาพในหมู่ประเทศภาคีสมาชิกทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย งานมหกรรมโลกถือเป็นเวทีที่แสดงศักยภาพทางความคิดสร้างสรรค์ เพื่อการนำเสนอนวัตกรรม และความเจริญก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการจากนานาประเทศ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมเรียนรู้พัฒนาการของศาสตร์แขนงต่างๆ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น มรดกทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ พระองค์มีพระบรมราโชบายในการเปิดความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก มีการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแบบนานาอารยประเทศ ตลอดจนมีการทำสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ (Treaty of Friendship and Commerce) กับประเทศต่างๆ โดยเริ่มจากประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรก ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ต่อมาจึงมีการตกลงทำสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์กับประเทศอื่น ๆ อีกรวม ๑๓ ประเทศ
การที่อังกฤษและไทยมีไมตรีต่อกันนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญให้ไทยได้เข้าร่วมในงานมหกรรมโลกเป็นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใน พ.ศ. ๒๔๐๕ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดสิ่งของต่าง ๆ ไปร่วมจัดแสดง ประกอบด้วย พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ชุดพานทอง ชุดโตกไม้ และเครื่องกระเบื้องหลายชิ้น ฯลฯ แม้ว่ารายละเอียดเกี่ยวข้องกับสิ่งของที่นำไปจัดแสดงและเอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้าร่วมงานในครั้งนี้จะมีไม่มากนัก แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันได้แน่ชัดคือ ภาพถ่ายธงช้างเผือกของประเทศสยามที่ปรากฏอยู่ในภาพงานมหกรรมโลกในครั้งนั้น
ครั้นต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๑๐ ประเทศฝรั่งเศสได้มีหนังสือเชิญให้ประเทศไทยเข้าร่วมงานมหกรรมโลกอย่างเป็นทางการที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (Paris Exposition Universelle 1867) โดยงานจัดขึ้น ณ ชองป์ เดอ มารส์ (Champ de Mars) ซึ่งเป็นลานสวนสนามในประวัติศาสตร์ใจกลางกรุงปารีส ระหว่างวันที่ ๑ เมษายน ถึงวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๐ มีประเทศต่าง ๆ รวม ๔๑ ประเทศและอาณานิคมอื่น ๆ อีกราว ๓๓ แห่ง เข้าร่วมจัดแสดง ภายในงานมีส่วนจัดแสดงนวัตกรรมและสิ่งของแปลกใหม่จากทั่วทุกมุมโลก นำเสนอความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ และมีร้านค้าจำนวนมากจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกจากประเทศต่างๆ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้จัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่และสร้างศาลาไทยตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม มีรูปปั้นช้างเป็นสัญลักษณ์ปรากฏอยู่โดดเด่นที่ด้านหน้า สำหรับแนวคิดตลอดจนสิ่งของต่างๆที่นำไปออกร้านจัดแสดง ณ ศาลาไทย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระสยามธุรานุรักษ์ (ม.เดอเกรอัง) กงสุลไทยประจำกรุงปารีส เป็นผู้แทนพระองค์ดำเนินการทั้งหมด ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือ เรื่อง “ราชอาณาจักรสยาม ในงานแสดงศิลปหัตถกรรม ณ ชองป์ เดอ มารส์ พ.ศ.๒๔๒๑” (กรมศิลปากร พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่า บรรดาสิ่งของที่นำไปจัดแสดงนอกเหนือจากพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีของส่วนพระองค์และของพระราชทานอีกหลายรายการ ได้แก่ เชี่ยนหมากทองคำ เครื่องมุกที่เป็นงานประณีตศิลป์
ของไทย แจกันลงยา ผ้าไหม โบราณวัตถุและศิลปวัตถุหลายรายการ และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีงานหัตถกรรมชิ้นเยี่ยมอีกเป็นจำนวนมาก
ในโอกาสเข้าร่วมงานมหกรรมโลกครั้งนี้ประเทศไทยได้รับรางวัลเหรียญทองเชิดชูเกียรติจากการประกวดสินค้าพื้นเมือง และรางวัลเกียรติยศจากการแสดงเรือพระที่นั่งจำลอง นับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นมิติใหม่ที่น่ายินดียิ่งและส่งผลให้ประเทศไทยได้เป็นที่รู้จักในเวทีโลกกล่าวกันว่าการแสดงนิทรรศการที่ศาลาไทยแห่งนี้เป็นที่ประทับใจของบรรดาชาวยุโรปที่ได้มีโอกาสสัมผัสความงดงามของศิลปวัฒนธรรมจากดินแดนตะวันออกไกลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
----------------------------------------------
เรียบเรียงโดย นางสาวนันทพร บรรลือสินธุ์
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ
กลุ่มแปลและเรียบเรียง
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
(จำนวนผู้เข้าชม 8290 ครั้ง)