เพลงโคราช ว่าด้วยจารีตและคติความเชื่อ
เพลงโคราชเป็นการแสดงพื้นเมืองของจังหวัดนครราชสีมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ที่สะท้อนถึงคติชนวิทยา วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจังหวัดนครราชสีมา สันนิษฐานว่าเพลงโคราชมีมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เพลงโคราชมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากษ์ที่ไม่มีดนตรีประกอบการขับร้อง เน้นความคมคายและโวหารของเนื้อหาบทเพลงที่ใช้ในการขับร้องเป็นสำคัญ
จารีตและความเชื่อในกระบวนการเรียนรู้เพลงโคราช
ในอดีตการเรียนรู้การแสดงเพลงโคราช ผู้ที่สนใจจะเป็นหมอเพลงหรือผู้แสดงเพลงโคราชจะไปฝากตัวเป็นศิษย์กับครูเพลง เพื่อให้ครูเพลงพิจารณาน้ำเสียง บุคลิก และปฏิภาณไหวพริบซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นหมอเพลงโคราช หากครูเพลงเห็นควรรับเป็นศิษย์ก็จะให้มาพำนักที่บ้านครูเพลงเพื่อฝึกหัดเป็นหมอเพลง ทั้งนี้ เริ่มด้วยการยกครูหรือทำพิธีบูชาครู เครื่องบูชาครูประกอบด้วย กรวยครู ๖ กรวย ดอกไม้ขาว ๖ คู่ เทียน ๖ เล่ม ธูป ๑๒ ดอก ผ้าขาว ๑ ผืน เงินบูชาครู ๖ บาท (บางแห่งใช้ ๑๒ หรือ ๒๔ บาท) เหล้าขาว ๑ ขวด บุหรี่ ๑๒ มวน โดยศิษย์จะถือพานยกครูมาบูชาครูเพลงเพื่อขอเป็นศิษย์ แล้วครูเพลงกล่าวนำให้ศิษย์ว่าตาม ครูจะทำน้ำมนต์ ประสระ (ครูเทน้ำมนต์รดศีรษะศิษย์) เพื่อเป็นสิริมงคล เมื่อศิษย์ทำการยกครูหรือบูชาครูแล้วครูเพลงมักจะให้ศิษย์เข้ามาพำนักอยู่ที่บ้านครูเพลง โดยช่วงเวลากลางวันศิษย์ก็จะช่วยครูเพลงทำงานบ้านหรืองานในเรือกสวนไร่นา ในช่วงเวลากลางคืน ศิษย์จะฝึกหัดเพลงโคราชด้วยการต่อเพลงกับครูเพลงแบบปากต่อปาก คืนละ ๑ กลอน ศิษย์ต้องท่องจำให้ขึ้นใจและว่าให้ครูฟังในตอนเช้า หากจำไม่ได้ก็ต้องต่อใหม่ในคืนถัดไปจนกว่าจำได้ ในขั้นตอนการฝึกหัดนี้นอกจากฝึกการต่อเพลงแล้วครูจะฝึกการเอื้อนทำนอง การออกเสียง และการด้นกลอนสดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เชี่ยวชาญ ครูบางท่านเสกคาถามุตโตลงบนใบไม้แล้วให้ศิษย์กิน หรือเสกน้ำมนต์ล้างหน้า เสกข้าว ๓ ปั้น ให้ศิษย์นั่งกินบนจอมปลวกช่วงตะวันขึ้น เชื่อกันว่าจอมปลวกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้ศิษย์มีสติปัญญาและปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม เรียกกันว่า “องค์สี่” คือ ปัญญาดี เสียงดี ชั้นเชิงดี และใจเย็น
จารีตและความเชื่อในการแสดงเพลงโคราช
หมอเพลงโคราชจะมีคติความเชื่อ และจารีตข้อห้ามในการแสดงหลายประการด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. จารีตและความเชื่อในลำดับการแสดง
ในการแสดงเพลงโคราชก่อนที่จะขึ้นแสดงบนเวที หมอเพลงจะต้องทำการยกครู (ไหว้ครู) โดยเจ้าภาพจะต้องเตรียมขันครู (เครื่องไหว้ครู) ให้กับหมอเพลง ประกอบด้วย กรวยพระ ๖ กรวย เทียน ๖ เล่ม ธูป ๑๘ ดอก (กรวยละ ๓ ดอก) เงิน ๒๔ บาท ผ้าขาว ๑ ผืน ดอกไม้ ๑๒ ดอก สุราขาว ๑ ขวด บุหรี่ ๑ ซอง[๒] อนึ่ง หมอเพลงแต่ละท่านจะมีรูปแบบของการไหว้ครูตามความเชื่อของแต่ละสายตระกูลแตกต่างกันไป
ตัวอย่างคำกล่าวยกครู สำนวนครูบุญสม กำปัง (นายบุญสม สังข์สุข)
“อิติปิโส ภะคะวา มือข้าพเจ้าสิบนิ้ว ยกขึ้นหว่างคิ้ว ข้าพเจ้าจะขอพนมกรนมัสการ สรรเสริญคุณพระพุทธคุณณัง พระธรรมคุณณัง พระสังฆคุณณัง คุณบิดรมารดา คุณครูบาอาจารย์ คุณอุปัชฌาย์อาจารย์ คุณพระอินทร์เจ้าฟ้า ขอเชิญท่านเสด็จลงมา รักษาดวงจิตดวงใจของข้าพเจ้า ให้เป็นสุขทุกราตรี ขอเชิญ พระเสื้อเมือง พระทรงเมืองผู้เริงราชย์ ขอเชิญท่านเสด็จลงมา รักษาดวงจิตดวงใจของข้าพเจ้าให้มั่นคง ข้าพเจ้าประสงค์สิ่งใด ขอให้ข้าพเจ้าได้สิ่งนั้น เทอญ” [๓]
นอกจากนี้ ในการยกครูนี้ หมอเพลงก็จะว่าคาถามหานิยม หรือคาถาทรงปัญญา เพื่อเป็น การเรียกผู้ชมให้นิยมหลงใหลในการแสดงของตน ในที่นี้ขอยกตัวอย่างคาถามหานิยม สำนวนของครูบุญสม กำปัง (นายบุญสม สังข์สุข)[๔] ดังนี้
คาถามหานิยม “สะสะนะมุโม โปร่งปรุปราดเปรื่อง ข้าฉลาดยะเอ็นดู นะโมพุทธายะ”
คาถาทรงปัญญา “โอมปุรุ ทะลุปัญญา”
คาถาสาลิกาลิ้นทอง “กะระวิเว วิเนอะ”
คาถาเสกแป้ง “นะเอยโมโม นะเอยซ่อนเมตตา นะเอยคนทั้งหลายดูกู นะ”
คาถาพุทธโอวาท “พุทธะ โอวาทะ”
๒. จารีตและความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่แสดง
การสร้างโรงเพลง การแสดงเพลงโคราชจะแสดงบนเวทีการแสดงหรือที่เรียกกันว่า “โรงเพลง” มีลักษณะเป็นศาลายกใต้ถุนสูง มีเสา ๔ เสา แต่เดิมหลังคามุงด้วยทางมะพร้าว หรือหญ้า หรือแฝก ตามวัสดุที่มีมากในแต่ละท้องถิ่น สำหรับการตั้งโรงเพลงนี้จะมีจารีตในการสร้างอยู่หลายประการด้วยกัน[๕] เชื่อว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะทำให้มีอุปสรรคในการแสดง ด้นเพลงไม่ออก หรืออาจทำให้หมอเพลงล้มป่วย สำหรับจารีตและความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่แสดงที่สำคัญ มีดังนี้
(๑) ห้ามสร้างโรงเพลงคร่อมจอมปลวก
(๒) ห้ามใช้ต้นไม้เป็นเสาของโรงเพลงด้านใดด้านหนึ่ง
(๓) ห้ามสร้างโรงเพลงต่อจากยุ้งข้าว
(๔) ห้ามสร้างโรงเพลงใกล้ บดบัง หรือเสมอศาลพระภูมิ
หลังจากที่ทำการปลูกสร้างโรงเพลงเสร็จแล้ว ในอดีตจะมีการมัดตอกและบริกรรมคาถา เป็นการทำคุณไสยให้คู่แข่งมีอุปสรรค ไม่ประสบความสำเร็จในการแสดง ทั้งนี้ หากโรงเพลงถูดมัดด้วยตอกก็จะต้อง แก้ตอกเพื่อเป็นการแก้เคล็ด
การขึ้นโรงเพลง การจะขึ้นโรงเพลงของหมอเพลงนั้นมีจารีตในการปฏิบัติเช่นกัน โดยหมอเพลงจะต้องดูทิศและวันที่เป็นมงคลในการขึ้นโรงเพลง เช่น หากแสดงตรงกับวันเสาร์ หมอเพลงจะต้องขึ้น โรงเพลงจากทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ถ้าการแสดงตรงกับวันอาทิตย์ หมอเพลงจะต้องขึ้น โรงเพลงจากทิศเหนือ หันหน้าไปทางทิศใต้ หากฝ่าฝืนจะโดนผีหลวงหลาวเหล็ก ทำให้หมอเพลงด้นเพลงไม่ออก การแสดงมีอุปสรรค นอกจากการดูทิศแล้ว การจะก้าวขึ้นโรงเพลง หมอเพลงจะต้องก้าวเท้าตามลมหายใจข้างขวาหรือซ้าย ในก้าวแรกที่ขึ้นโรงเพลง เมื่อขึ้นโรงเพลงแล้วหมอเพลงก็จะว่าคาถามหานิยม คาถาทรงปัญญา เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
(จำนวนผู้เข้าชม 18391 ครั้ง)