...

ปฏิทินหลวงพระราชทานกับการกำหนดปีนักษัตรของไทย
วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่เดิมอีกทั้งยังเป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรด้วย ภายหลังเมื่อได้รับอิทธิพลของพราหมณ์จากอินเดียทำให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นเดือน ๕ จึงทำให้โหรเริ่มนับปีนักษัตรใหม่ที่เดือน ๕ ตามไปด้วยเช่นกัน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากการนับวันขึ้นปีใหม่ตามวัน เดือน ปี ของทั้งทางจันทรคติและสุริยคติที่ใช้ปะปนกันจนเกิดความสับสน จนกระทั่งภายหลังไทยได้ประกาศใช้วันขึ้นปีใหม่ตามแบบสากลที่ยึดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงทำให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับความเข้าใจในการเปลี่ยนปีนักษัตรตามไปด้วย ดังปรากฎภาพในบัตรอวยพรปีใหม่ตามสื่อออนไลน์ที่มีการใช้ภาพของปีนักษัตรใหม่มาใช้อวยพรกันในวันที่ ๑ มกราคม อย่างไรก็ดีปฏิทินหลวงพระราชทานยังคงกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ เป็นวันขึ้นปีนักษัตรใหม่ ซึ่งนับเป็นร่องรอยหลักฐานสำคัญอันแสดงให้เห็นว่าวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑ เป็นวันขึ้นปีใหม่ และวันขึ้นนักษัตรใหม่ของไทยมาแต่เดิม

.........................................
ภาพ : ปฏิทินหลวง พุทธศักราช ๒๕๖๓ หน้า ๓๑
นายเอกลักษณ์ ลอยศักดิ์ นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
Star vote. Star vote. Star vote. Star vote. Star vote.

(จำนวนผู้เข้าชม 3911 ครั้ง)


Messenger