ในดินแดนไทย คำว่าเทวดาหรือเทพยดาปรากฏในจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชความว่า “... มีพระขะพุงผี เทพยดาในเขาอันนั้น เป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้...” ซึ่งในศิลาจารึกนี้ คำว่าเทวดาและผีจะถูกใช้ปะปนกันไป โดยเชื่อว่า คำว่า ผี น่าจะมีใช้มาก่อนคำว่า เทวดา อันเป็นคำในอารยธรรมอินเดียซึ่งแพร่เข้ามาในชั้นหลัง ต่อมาในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุมปรากฏว่ามีคำว่า ผีฟ้าเพิ่มเข้ามา ดังข้อความในจารึกว่า “... เมื่อก่อนผีฟ้าเจ้าเมืองสรีโสธรปุระ ...” จะเห็นได้ว่า คำว่าผีฟ้าในที่นี้มีความหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าคติการนับถือพระเจ้าแผ่นดินในฐานะสมมติเทพมีอย่างน้อยตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว
การเกิดขึ้นของความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาในชั้นเดิมนั้น คงเริ่มจากการที่มนุษย์พิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติแล้วเห็นว่า อาจจะมีสิ่งใดบันดาลเหตุการณ์ต่างๆ ดังนั้น เทวดาในระยะแรกจึงสะท้อนลักษณะของธรรมชาติ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เทวดาในลักษณะนี้เป็นบุคลาธิษฐานของอำนาจแห่งธรรมชาตินั่นเอง เช่น พระอัคนี (ไฟ) พระวรุณ (ฝน) เป็นต้น ในระยะแรกนี้ พิธีพลีกรรมหรือบวงสรวงต่อเทวดายังไม่มีความซับซ้อน ดังเช่น อาจตั้งสำรับอาหารไว้กับพื้นดินแล้วเชิญเทวดาลงมาเสวยเพียงเท่านั้น ต่อเมื่อชาวอารยันได้เข้ามาตั้งรกรากในเขตประเทศอินเดียแถบลุ่มแม่น้ำสินธุตอนบนราว ๖๕๐ ปีก่อนคริสตกาล จึงได้พัฒนาความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาจนกลายเป็นศาสนาพราหมณ์ขึ้น ซึ่งความเชื่อนี้ได้แพร่เข้ามาในดินแดนไทยในกาลต่อมา ความเชื่อเกี่ยวกับเทวดาเนื่องในศาสนาพราหมณ์นี้เองที่ทำให้พิธีพลีกรรมหรือการบวงสรวงมีขั้นตอนและหลักการที่พิสดารซับซ้อนมากขึ้น
จากเดิมที่เทวดามีลักษณะพื้นฐานเกี่ยวพันกับธรรมชาติ ต่อมาในสมัยหลังโดยเฉพาะในศาสนาพราหมณ์ เทวดาบางองค์ได้ปรากฏขึ้นในลักษณะเฉพาะตน โดยที่เทวดาแต่ละองค์จะมีหน้าที่หรือลักษณะที่สำคัญแตกต่างกันไปด้วย เช่น พระพรหมได้รับการนับถือในฐานะเทพผู้สร้าง พระสุรัสวดีได้รับการนับถือว่าเป็นเทพแห่งสรรพวิทยา เป็นต้น โดยนัยนี้ ลักษณะที่เป็นสภาวะธรรมชาติที่เคยมีอยู่ได้ค่อยๆเลือนไป และภาวะที่แสดงถึงความเป็นเทพเช่น ความศักดิ์สิทธิ์จะโดดเด่นขึ้นมาแทน อย่างไรก็ดี ลักษณะที่เทวดาหรือเทพทั้งหลายมีร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเทวดาในฝ่ายร้ายหรือดีคือ ทรงไว้ซึ่งพลังอำนาจเหนือมนุษย์
ทั้งนี้ ในการนับถือเทวดาว่าองค์ใดมีสถานะเหนือองค์ใดหรือองค์ใดเป็นใหญ่ที่สุดนั้นจะแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นหรือกลุ่มชน เช่น ในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายจะนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ส่วนลัทธิไวษณพนิกายจะนับถือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด เป็นต้น
ในวัฒนธรรมไทย สามารถจำแนกได้ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับเทวดามีอยู่ด้วยกัน ๓ กลุ่มคือ
๑. เทวดาในพุทธศาสนา คัมภีร์และอรรถกถาในพุทธศาสนาหลายเรื่องระบุว่ามีเทวดาหรือเทพต่างๆเป็นอันมากและจัดแยกเป็นกลุ่มไว้ชัดเจนดังปรากฏใน ไตรภูมิพระร่วง อันเป็นวรรณคดีสำคัญทางพุทธศาสนาของไทย แม้ในพระไตรปิฎกก็มีเนื้อความเกี่ยวกับเทวดาอยู่หลายเรื่อง เช่น ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค สิกขาบทที่ ๑ แห่งภูตคามวรรค ทั้งนี้เทวดาในพุทธศาสนามีกำเนิดที่แตกต่างจากเทวดาในศาสนาพราหมณ์ (กล่าวคือ เทวดาในศาสนาพราหมณ์บางส่วนเกิดโดยสยมภูหรือกำเนิดขึ้นมาเอง) ทว่า การกำเนิดเป็นเทวดาในพุทธศาสนานั้นเนื่องมาจากผลแห่งกุศลกรรม คือการจะถือกำเนิดเป็นเทวดาได้จะต้องกระทำความดีประการต่างๆ เช่น ทำบุญรักษาศีล ปฏิบัติสมาธิ ข้อสำคัญคือเทวดาในพุทธศาสนาย่อมอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม
เทวดาในพุทธศาสนาอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มคือ ๑. สมมติเทพ คือ กษัตริย์ พระเจ้าแผ่นดิน หรือพระราชา ซึ่งทรงมีอำนาจเปรียบประดุจเทวดา ๒. อุปปัตติเทพ คือ เทวดาผู้อยู่อีกภพหนึ่งโดยนับตั้งแต่เทวดาในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกภูมิขึ้นไปจนตลอด ๒๖ ชั้น ๓. วิสุทธิเทพ คือ พระขีณาสพซึ่งแบ่งได้เป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอรหันต์
ในพระพุทธศาสนา ทวยเทพย่อมมาน้อมนมัสการพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อสดับฟังพระธรรมเทศนา บางครั้งก็จะเข้าเฝ้าทูลถามข้อธรรมะ ในแง่นี้ วิสุทธิเทพจึงทรงไว้ซึ่งสถานะที่เด่นกว่าเทพทั้งหลาย บทบาทของเทวดาในพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์จึงแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย เช่น พระอินทร์หรือท้าวสักกเทวราชเป็นผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา กระทั่งในตำนานการสร้างพระพุทธชินราชก็มีการกล่าวว่าพระอินทร์ลงมาช่วยหล่อจนสำเร็จ หรือท้าวสหัมบดีพรหมผู้เป็นราชาของพรหมก็มีบทบาทในการผดุงพระธรรมในพุทธศาสนา เหล่านี้เป็นต้น
ตามพระเวทนั้น เทวดาเป็นที่มาของความมั่งคั่ง อำนาจ และคุณธรรม โดยคุณสมบัติที่สำคัญของเทวดาแต่ละองค์จะต่างกันไป และในแง่หนึ่งเทวดาในพระเวทคือ วิถีทางที่องค์เทพสูงสุดจะสำแดงองค์ให้มนุษย์ได้ประสบกับอำนาจที่เทวดาหรือเทพทั้งหลายมีอยู่ และอำนาจนั้นจะสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับอำนาจที่ปกครองสกลจักรวาล
๓. เทวดาประจำถิ่นหรือประจำท้องถิ่น ในประเพณีไทยเทวดาประจำท้องถิ่นนี้มีอยู่ด้วยกันหลายประเภท ได้แก่ เทวดาที่คอยดูแลรักษาประจำถิ่นที่ เช่น พระภูมิเจ้าที่ เจ้าทุ่ง เจ้าป่า เจ้าเขา ซึ่งเป็นใหญ่ในที่แห่งใดแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ บ้างก็เรียกว่า เทพารักษ์ หากเป็นกรณีเทวดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้เรียกว่า รุกขเทวดา นอกจากนี้ ในหลายกรณี เมื่อบรรพบุรุษของครอบครัวหรือชุมชนเสียชีวิตลงก็อาจมีการยกย่องให้เป็นผีบรรพบุรุษ ซึ่งอาจรวมได้เป็นเทวดาประจำท้องถิ่นประเภทหนึ่งด้วย
นอกจากเทวดาประจำถิ่นที่ คติความเชื่อของไทยยังมีการนับถือเทวดาประจำเมืองอีกด้วย โดยเมื่อสถาปนาบ้านเมืองขึ้นครั้งแรกก็ต้องตั้งศาลหรือหอขึ้นไว้เพื่อเป็นที่สถิตของผีบ้านผีเมือง บางครั้งเราก็เรียกขานเทวดาประเภทนี้ว่า ผีเสื้อเมืองหรือ พระเสื้อเมือง บ้างก็เรียกว่า ผีหลวง ทั้งนี้ ยังมีเทวดาอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับการนับถือด้วยว่าเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก เช่น พระแม่คงคา พระแม่โพสพ เป็นต้น
สำหรับคติในการบูชาบวงสรวงเทวดานั้นสามารถพบได้ในพิธีและประเพณีหลายอย่างของไทย นัยว่าหากเราต้องดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับพื้นที่หรือสิ่งใด รวมถึงถ้าจะทำกิจการงานใดเป็นพิเศษ ก็จำต้องสังเวยบอกกล่าวให้เทวดาทราบ เพื่อความสุขสวัสดีหรือบันดาลการบรรลุผลสำเร็จตามแต่กรณี มิฉะนั้นหากมิได้บวงสรวงสังเวยหรือปฏิบัติผิดจารีตธรรมเนียม เทวดาอาจจะบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ร้ายต่างๆได้ การบวงสรวงสังเวยนี้ มีอาทิ การตั้งศาลหรือหอ ในกรณีของเทวดาพระภูมิเจ้าที่ การไหว้ครู ในกรณีของเทวดาแห่งศิลปวิทยาต่างๆ การบวงสรวงเมื่อจะทำการตัดโค่นไม้ใหญ่ ในกรณีของรุกขเทวดา หรือหากคนไทยสมัยก่อนจะปลูกเรือนก็ต้องบวงสรวงทำบัตรพลีไหว้พระภูมิเจ้าที่เพื่อขอที่ดินต่อผู้รักษาพื้นดินก่อน บัตรพลีดังกล่าวมีหมากพลู มะพร้าวอ่อน ขนมต้ม กล้วยน้ำว้า เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คติในการบูชาบวงสรวงเทวดานั้นจะพบเห็นโดยมากในความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์และความเชื่อท้องถิ่น ในพุทธศาสนานั้น การบูชาเทวดามิได้มีระบุไว้ในพระบาลีแต่อย่างใด และแม้ชาวพุทธจะทำการบูชาเทวดาหรือเทพ ก็จะให้สถานะด้อยกว่าพระพุทธรูป เช่นในบ้านเรือนทั่วไป หิ้งบูชาพระจะอยู่เหนือแท่นบูชาทวยเทพต่างๆ โดยที่ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ การบูชาเทวดามีหลักการปฏิบัติกำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งพิธีจำนวนมากต้องให้พราหมณ์เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างผู้บวงสรวงกับเทพเจ้า แม้ในสังคมไทยปัจจุบันคติการบูชาเทวดาก็มิได้เสื่อมถอยลงไปแม้แต่น้อย ดังจะเห็นได้จากศาลเทพเจ้าขนาดใหญ่ที่มีผู้คนจำนวนมากเข้าไปสักการะกราบไหว้
กล่าวโดยสรุป คติความเชื่อเรื่องเทวดาหรือเทพเจ้าในสังคมไทยนี้มีมาแต่ครั้งก่อนสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย โดยในชั้นต้นความเชื่อเรื่องเทวดาน่าจะมีอยู่ในรูปของเทวดาประจำถิ่น หรือเทวดาที่เกี่ยวพันกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่แล้วครั้นเมื่อชาวไทยยอมรับนับถือพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อเรื่องเทวดาจึงได้พัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบที่ชัดเจนโดยเฉพาะในคติทางศาสนาพราหมณ์อย่างไรก็ตาม คติความเชื่อเรื่องเทวดาก็ได้ผสมผสานกันในพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อท้องถิ่น โดยจะมีสัดส่วนแตกต่างกันไปตามกลุ่มชนหรือพิธีกรรมต่างๆ และยังคงเป็นความเชื่อที่ดำเนินคู่ไปกับหลักการทางศาสนามาตราบจนปัจจุบัน
บรรณานุกรม
พลูหลวง (นามแฝง). เทวโลก. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๓๐.
ส. พลายน้อย (นามแฝง). เทวนิยาย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น, ๒๕๓๔.
สัจจาภิรมย์, พระยา (สรวง ศรีเพ็ญ). เทวกำเนิด. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๑๖ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสุด สุทเธนทร์ ณ วัดบางขวาง อ. เมือง จ.นนทบุรี วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๑๖).
เสฐียรโกเศศ (นามแฝง). การศึกษาเรื่องประเพณีไทย. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๐๒.
เสฐียรโกเศศ (นามแฝง). เรื่องผีสางเทวดา. ม.ป.ท., ๒๕๐๒ (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสาย ปิณฑะสุต ณ วัดหิรัญรูจีวรวิหาร (วัดน้อย) วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒).
อุดม รุ่งเรืองศรี. เทวดาพระเวท. ม.ป.ท.,๒๕๒๓.
นายชญานิน นุ้ยสินธุ์
นักอักษรศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มจารีตประเพณี
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์
ค้นคว้าเรียบเรียง
(จำนวนผู้เข้าชม 73491 ครั้ง)