สารทเดือนสิบ (ตอนที่ ๒)
หลังจากหลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์เรียบร้อยแล้ว จะมีการตั้งเปรตซึ่งแต่เดิมจะกระทำโดยการนำเอาอาหารส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ภายในวัด ตรงริมทางเดินบ้าง บริเวณประตูวัดหรือกำแพงวัดบ้าง หรือตามโคนต้นไม้บ้าง ภายหลังได้มีการสร้างร้านขึ้นมาสูงพอสมควรใช้สำหรับให้พุทธศาสนิกชนนำอาหารที่จะตั้งเปรตไว้รวมกัน เรียกว่า “หลาเปรต หรือร้านเปรต” ปัจจุบันบางวัดทำเป็นศาลาถาวรก็มี บนหลาเปรตจะโยงสายสิญจน์โดยรอบและโยงไปถึงพระภิกษุสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อผู้ล่วงลับซึ่งนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ จากนั้นพุทธศาสนิกชนจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญแก่ตายายผู้ล่วงลับ เมื่อเสร็จพิธีแล้วพุทธศาสนิกชนส่วนหนึ่งที่มาร่วมทำบุญ โดยมากมักจะเป็นเด็ก ๆ จะเข้าไปรุมแย่งขนมและสิ่งของที่ตั้งเป็นหลาเปรตอย่างสนุกสนาน ด้วยมีความเชื่อว่าการแย่งขนมเปรตบนหลาเปรตนี้จะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าถ้านำขนมเหล่านี้ไปหว่านในเรือกสวนไร่นาจะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์ บางพื้นที่ยังมีการทำหลาเปรตอีกลักษณะหนึ่งโดยใช้ลำต้นหมาก ไม้ไผ่ หรือไม้เหลาชะโอน ยาวประมาณ ๓ เมตร เอาเปลือกหยาบภายนอกออก หรือถ้าเป็นไม้ไผ่จะขัดเกลาเอาข้อออกแล้วใช้น้ำมันมะพร้าวชโลมจนทั่วเพื่อให้มีความลื่น เอาโคนเสาฝังดิน ปลายเสามีแผงไม้ติดไว้พร้อมผูกเชือกห้อยขนมเดือนสิบต่าง ๆ จากนั้นให้พุทธศาสนิกชนผู้ชายแข่งกันปีกเสาเหล่านั้นทีละคน ใครปีกได้สูงก็จะได้รางวัลมาก ปีนได้น้อยก็ได้รางวัลน้อยลงตามสัดส่วน เป็นที่สนุกสนาน ซึ่งการชิงเปรตในลักษณะนี้จะกระทำภายหลังการชิงเปรตร่วมกันที่หลาเปรตแล้ว จากนั้นบางพื้นที่ก็จะมาการโปรยทานด้วยเงินเหรียญ หรือเรียกว่า “กำพริก” แก่ผู้มาร่วมทำบุญอย่างสนุกสนาน
นอกจากนี้ในบางพื้นที่ยังมีความเชื่อเพิ่มเติมอีกว่า มีเปรตพวกหนึ่งซึ่งมีบาปหนาไม่กล้าเข้าไปรับอาหารที่ตั้งบนร้านเปรตภายในวัด พุทธศาสนิกชนจึงต้องนำเอาอาหารไปตั้งเปรตกันนอกเขตวัดโดยวางบนพื้นดิน พื้นหญ้า หรือตามต้นไม้ เมื่อเปรตรับเอาส่วนบุญที่พุทธศาสนิกชนอุทิศให้และชิงให้แล้ว ก็จะกลับสู่ภพภูมิของตน คอยโอกาสที่จะกลับมาอีกในปีถัดไป
ปัจจุบันการทำบุญในประเพณีสารทเดือนสิบของชาวนครศรีธรรมราชยังคงถือปฏิบัติกันอย่างเหนียวแน่น ถือเป็นงานประเพณีที่สำคัญที่สุดในรอบปี มีวัตถุประสงค์และแนวทางที่ถือปฏิบัติตามประเพณีที่เคยถือปฏิบัติกันมา จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเพียงข้อปลีกย่อยเท่านั้น และยังมีการจัดงานรื่นเริงประจำปีอย่างยิ่งใหญ่ เรียกว่า “งานเดือนสิบ” เป็นประจำทุกปีบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ๘๔ (ทุ่งท่าลาด) และที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งนับเป็นเทศกาลประจำปีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดงานหนึ่งของภาคใต้ โดยเริ่มจัดงานมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นต้นมา ระยะแรกใช้สนามหน้าเมืองเป็นสถานที่จัดงาน ภายหลังจึงได้ย้ายมายังทุ่งท่าลาดตามความเหมาะสมของสถานที่ นอกจากนี้ยังมีการจัดงานวันสารทเดือนสิบขึ้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อเป็นที่รวมตัวพบปะสังสรรค์ และร่วมทำบุญสืบสานประเพณีดังกล่าวของพุทธศาสนิกชนในภาคใต้ที่พักอาศัยในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีการจัดงานขึ้นหลายแห่ง เช่น วัดพิชยญาติการาม วัดเทวราชกุญชร สมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น
นายภูวนารถ สังข์เงิน นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ค้นคว้าเรียบเรียง
(จำนวนผู้เข้าชม 1862 ครั้ง)