สารทเดือนสิบ (ตอนที่ ๑)
ประเพณีสารทเดือนสิบถือเป็นประเพณีประจำปีที่สำคัญที่สุดของจังหวัดนครศรีธรรมราช และถือปฏิบัติกันโดยทั่วไปของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย โดยเชื่อว่าในช่วงเดือน ๑๐ ตามปฏิทินจันทรคติ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เปรตที่มีกรรมหนักตกอยู่ในนรกภูมิ จะได้รับการปล่อยตัวจากยมโลกมายังโลกมนุษย์เพื่อพบลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ เรียกว่า “วันรับตายาย” และจะต้องกลับสู่นรกภูมิในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เรียกว่า “วันส่งตายาย” พุทธศาสนิกชนจะจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับในสองวันนี้ แต่มีวิธีถือปฏิบัติยิ่งหย่อนต่างกัน โดยจะให้ความสำคัญกับการทำบุญวันส่งตายายมากว่าวันรับตายาย
ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ยืนยันได้ว่าประเพณีสารทเดือนสิบนี้เริ่มต้นเมื่อใดและเริ่มต้นที่ไหน นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นการรับอิทธิพลจากอินเดียมาประยุกต์ และถือปฏิบัติสืบต่อมาอย่างยาวนาน ด้วยในศาสนพิธีของศาสนาฮินดูปรากฏพิธีหนึ่งที่เรียกว่า “ศราทธะ” คือธรรมเนียมการเซ่นพลีและทำทักษิณาอุทิศแก่บุรพบิดร (บรรพบุรุษ ๓ ชั้น ได้แก่ บิดา ปู่ และทวด) ผู้ล่วงลับ โดยกระทำในวันเผาศพบ้าง วันครบรอบวันเสียชีวิตบ้าง เมื่อทำทักษิณาอุทิศแล้วก็กรวดน้ำโดยลงไปในแม่น้ำ เอามือตักน้ำขึ้นมาแล้วค่อย ๆ ปล่อยให้น้ำไหลลง พร้อม ๆ กับอธิษฐานอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับว่า “ขอให้น้ำนี้ระงับความกระหายของผู้นั้น” ส่วนอาหารที่เซ่นพลีแล้วก็โปรยทานแก่แร้งกา จากนั้นเชิญพราหมณ์มาถวายอาหารและเครื่องบูชา โดยเฉพาะผ้านุ่ง ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ด้วยเชื่อว่าผู้ล่วงลับหิวกระหายและเปลือยกายหนาวเย็นเป็นที่ทรมาน
พิธีศราทธะนี้ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นพิธีปุพพเปตพลีในภายหลัง ตามพุทธประวัติระบุว่าภายหลังที่พระเจ้าพิมพิสารนับถือเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้ว ทรงประกอบพิธีปุพพเปตพลีโดยเชิญเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ไปทรงอังคาสที่พระราชวัง เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้วจึงทรงถวายเครื่องไทยธรรมต่าง ๆ รวมทั้งผ้าแก่พระภิกษุสงฆ์ด้วย แล้วทรงอุทิศแก่บุรพบิดร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาด้วยพระคาถาที่มีคำว่า “อทาสิ เม อกาสิ เม” เป็นต้น หมายความว่า ญาติก็ดี มิตรก็ดี รำลึกถึงอุปการะอันท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า ท่านได้ให้แล้วแก่เรา ท่านเป็นญาติเป็นมิตร เป็นสาขาของเราพึงให้ทักษิณาเพื่อเปตชน ไม่พึงทำการร้องไห้เศร้าโศก รำพึงถึง เพราะการอย่างนั้นไม่เป็นประโยชน์เพื่อเปตชน ญาติทั้งหลายย่อมตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ส่วนทักษิณานี้ท่านทั้งหลายบริจาคทำให้ตั้งไว้ดีในสงฆ์ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปตชนนั้นโดยฐานะสิ้นกาลนาน ท่านทั้งหลายได้แสดงญาติธรรมนี้ด้วย ได้ทำบูชาเปตชนให้ยิ่งด้วย ได้เพิ่มกำลังให้แก่ภิกษุทั้งหลายด้วย เป็นอันได้บุญไม่น้อยเลย”
จากพุทธประวัติดังกล่าวจะเห็นว่าประเพณีสารทเดือนสิบได้มีพัฒนาการจากพิธีศราทธะและพิธีเปตพลีของศาสนาฮินดู แม้ภายหลังบรรดาพราหมณ์จำนวนหนึ่งได้หันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาแล้วก็ยังคงถือปฏิบัติพิธีนี้อยู่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของพิธีดังกล่าว จึงทรงอนุญาตให้พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติต่อไป เนื่องจากเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที รวมทั้งก่อให้เกิดความสุขแก่ผู้ปฏิบัติ เพียงแต่มีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของพิธีกรรมบ้างเท่านั้น
ประเพณีสารทเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ตามปฏิทินจันทรคติ ถือเป็นวันรับตายาย พุทธศาสนิกชนถือปฏิบัติเพียงแต่จัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัดเป็นการต้อนรับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับกลับสู่โลกมนุษย์เท่านั้น บางพื้นที่จะเรียกวันดังกล่าวนี้ว่า “วันหมฺรับเล็ก” และเรียกวันส่งตายายในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ว่า “วันหมฺรับใหญ่”
เมื่อใกล้ถึงวันส่งตายาย ซึ่งเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษประมาณ ๑ – ๓ วัน พุทธศาสนิกชนจะเตรียมจัดหาข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อจัดหมฺรับ (ภาษาถิ่นภาคใต้หมายถึงสำรับ) บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะนำสิ่งของที่ต้องใช้ในโอกาสนี้มาวางขายกันอย่างคึกคัก เรียกว่า “วันจ่าย” โดยมากจะตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ในวันจ่ายนี้ในตลาดสดต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจะหอมกลิ่นขนมเดือนสิบไปทั้งตลาดเลยทีเดียว
จากนั้นเมื่อจัดเตรียมสิ่งของที่ต้องใช้ในการจัดหมฺรับเรียบร้อยแล้ว พุทธศาสนิกชนจะนำมาดับหมฺรับ (จัดสำรับ) การดับหมฺรับนี้โดยมากมักจะจัดกันในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ แต่เดิมจะนิยมดับหมฺรับในกระบุงทรงเตี้ยสานด้วยไม้ไผ่ขนาดเล็กใหญ่ตามความต้องการของผู้จัด จากนั้นใส่ข้าวสารรองในกระบุง แล้วใส่หอม กระเทียม พริก เกลือ น้ำตาล และเครื่องปรุงรสที่จำเป็น แล้วจึงใส่อาหารแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผัก ผลไม้ เช่น มะพร้าว ฟัก มัน กล้วย อ้อย ข้าวโพด เป็นต้น จากนั้นจึงใส่ของอุปโภคในชีวิตประจำวัน ได้แก่ เครื่องเชี่ยนหมาก เช่น ยาเส้น ใบจาก ยาสามัญประจำบ้าน ธูปเทียน แล้วจึงใส่ขนมเดือนสิบซึ่งถือเป็นหัวใจของการดับหมฺรับ ประกอบด้วยขนม ๕ อย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของประเพณีสารทเดือนสิบ และมีนัยยะต่อการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลต่อตายายผู้ล่วงลับ ได้แก่
๑. ขนมลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องนุ่งห่ม
๒. ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับผู้ล่วงลับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพตามคติทางพระพุทธศาสนา
๓. ขนมกง หรือขนมไข่ปลา เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ
๔. ขนมดีซำ เป็นสัญลักษณ์แทนเงินตรา
๕. ขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้าสำหรับผู้ล่วงลับใช้เล่นในวันสงกรานต์
ในบางพื้นที่นิยมใช้ขนมลาลอยมันอีกด้วยเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนฟูกหมอน ขนมต่าง ๆ เหล่านี้สามารถเก็บไว้ได้นานไม่บูดเสียง่ายเหมาะที่จะใช้เป็นเสบียงเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์ไปตลอดฤดูฝน
ปัจจุบันภาชนะที่ใช้ดับหมฺรับนิยมใช้ตามแต่ความสะดวกของผู้จัด เช่น ถาด กระจาด กะละมัง กระเชอ เป็นต้น สิ่งของที่ใช้ดับหมฺรับนั้น นิยมใช้เพียงขนมเดือนสิบเท่านั้น ไม่ค่อยปรากฏการใส่สิ่งของอุปโภคบริโภคตามธรรมเนียมเดิมอีก เมื่อจัดหมฺรับเรียบร้อยแล้วจะปักธูปเทียนไว้บนยอดหมฺรับ แล้วประดับด้วยดอกไม้สดอย่างสวยงามโดยไม่มีรูปแบบตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้จัด ส่วนมากจะนิยมทรงกรวย หรือทรงพระบรมธาตุเจดีย์ การดับหมฺรับอาจจะรวมกันจัดเฉพาะครอบครัว หรือรวมกันจัดกันในเครือญาติ หรือรวมกันจัดในหมู่เพื่อนฝูงก็ได้ นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่ขาดไม่ได้ของการดับหมฺรับคือน้ำสะอาดใส่ภาชนะเพื่อเป็นน้ำดื่มแก่ตายายผู้ล่วงลับอีกด้วย
เมื่อถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ อันเป็นวันส่งตายาย ซึ่งทางจังหวัดนครศรีธรรมราชประกาศเป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ พุทธศาสนิกชนยกหมฺรับพร้อมกับปิ่นโตใส่ภัตตาหารเพื่อที่จะถวายพระภิกษุสงฆ์ไปที่วัดก่อนช่วงเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะฉันภัตตาหารเพล โดยเลือกวัดที่อยู่ใกล้บ้านหรือวัดที่เคยเผาบรรพบุรุษ หรือวัดอันเป็นที่ตั้งของบัวบรรจุอัฐิบรรพบุรุษ หรือถ้าวัดใดมีประกวดหมฺรับก็จะมีขบวนแห่ใหญ่โตเอิกเกริก การทำบุญในวันดังกล่าวนี้บางทีเรียกว่า “วันหลองหมฺรับ” คือ วันฉลองหมฺรับ นอกจากนี้มีการทำบุญเลี้ยงพระและบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ตายายผู้ล่วงลับ ถือเป็นการส่งตายายที่ล่วงลับกลับสู่ภพภูมิที่ตนจากมา พุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือผู้ไปทำงานต่างถิ่นจะเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเพื่อร่วมในการทำบุญวันส่งตายายนี้ต่างมุ่งหวังให้ตายายผู้ล่วงลับจะไม่อดอยากหิวโหย ถ้าหากใครไม่ได้เข้าร่วมจะถูกมองว่าอกตัญญู
นายภูวนารถ สังข์เงิน นักอักษรศาสตร์ปฏิบัติการ กลุ่มจารีตประเพณี สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ค้นคว้าเรียบเรียง
(จำนวนผู้เข้าชม 76794 ครั้ง)