...

“พระตำหนักคำหยาด”ที่ปลีกวิเวกของกษัตริย์ผู้ไม่พิสมัยในราชบัลลังก์!!! โดย โรม บุนนาค
ราชบัลลังก์ ย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนที่มีวาสนาอาจไขว่คว้าได้ถึง แม้จะต้องเข่นฆ่ากันระหว่างพี่กับน้อง พ่อกับลูก ก็เคยมีมาแล้วในอดีต
       
         แต่ก็มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งของกรุงศรีอยุธยา แม้จะขึ้นครองราชย์อย่างถูกต้องตามราชประเพณี แต่เมื่อทรงทราบว่า มีคนอื่นอยากได้จนตัวสั่น ก็ยอมสละให้แต่โดยดีขณะที่ครองราชบัลลังก์มาได้เพียง ๑๐ วัน ด้วยมีพระราชประสงค์จะหาความสงบสุขทางใจมากกว่าพระราชอำนาจบนราชบัลลังก์
                
         อนุสรณ์สถานปลีกวิเวกของพระองค์ ก็ยังคงเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ มีชื่อว่า “พระตำหนักคำหยาด” ที่ใกล้วัดคำหยาด ในอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
       
         ส่วนพระมหากษัตริย์ที่สละราชบัลลังก์มาปลีกวิเวกอยู่ที่นี่ ก็คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ ๔ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในพระนาม “พระเจ้าอุทุมพร” กษัตริย์พระองค์ที่ ๓๒ รองสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา
       
         พระเจ้าอุทุมพรเป็นราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ตอนที่พระราชชนนีทรงครรภ์นั้น พระราชบิดาทรงพระสุบินว่ามีผู้ถวายดอกมะเดื่อให้ จึงพระราชทานพระนามว่า เจ้าฟ้าอุทุมพรราชกุมาร แต่เรียกกันทั่วไปว่า “เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ”
       
         เมื่อตำแหน่งรัชทายาทว่างลง เนื่องจาก “เจ้าฟ้ากุ้ง” หรือ “เจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ราชโอรสองค์โตต้องพระราชอาญาถึงสิ้นพระชนม์ ขุนนางข้าราชการทูลขอให้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิตขึ้นเป็นรัชทายาทแทน แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรกลับขอให้สถาปนาพระเชษฐา กรมหลวงอนุรักษ์มนตรี หรือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ ขึ้นเป็นรัชทายาท แต่พระราชบิดาไม่ทรงยินยอม รับสั่งว่า
       
         “กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้นโฉดเขลา หาสติปัญญาและความเพียรมิได้ ถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์มหาอุปราชสำเร็จราชการกึ่งหนึ่งนั้น บ้านเมืองก็จะเกิดภัยพิบัติเสียหาย เห็นแต่กรมขุนพรพินิตกอปรด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม สมควรจะดำรงเศวตฉัตรครองสมบัติรักษาแผ่นดินสืบไปได้ เหมือนดังคำปรึกษาด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งปวง”
       
         จึงมีพระราชโองการให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ออกผนวช และสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเป็นมหาอุปราช
       
         ในปี พ.ศ.๒๓๐๑ พระเจ้าอยู่หัวประชวรหนัก รับสั่งให้พระราชโอรสที่มีบทบาทสำคัญเข้าเฝ้า ตรัสมอบสมบัติให้เจ้าฟ้าอุทุมพร และให้คนอื่นๆถวายสัตย์ยอมเป็นข้าทูลละออง เจ้าฟ้าเอกทัศน์ทราบข่าวก็รีบลาผนวชกลับมาอยู่วัง รอขึ้นครองราชย์แทน ด้วยถือว่าพระองค์เป็นพระราชโอรสที่อาวุโสที่สุด
       
         เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต ขุนนางข้าราชการก็อัญเชิญเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติตามพระบรมราชโองการ แต่เจ้าฟ้าเอกทัศน์กลับเสด็จขึ้นประทับบนพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์
       
         เจ้าฟ้าอุทุมพรเห็นว่าพระเชษฐาอยากครองราชย์เต็มที่ เลยสละราชสมบัติให้หลังจากครองราชย์ได้เพียง ๑๐ วัน แล้วเสด็จออกผนวชที่วัดประดู่
       
         เจ้าฟ้าเอกทัศน์ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ หรือ พระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ แต่รู้จักกันทั่วไปในนาม พระเจ้าเอกทัศน์ หรือ “ขุนหลวงขี้เรื้อน” กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาที่เสียเมืองแก่พม่าอย่างยับเยิน
       
         เจ้าฟ้าเอกทัศน์บริหารราชการแผ่นดินตามที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศคาดไว้ไม่มีผิด ข้าราชการสอพลอได้ดิบได้ดี ขุนนางกลุ่มหนึ่งจึงไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้าอุทุมพรขอให้สึกออกมากอบกู้บ้านเมืองก่อนที่จะล่มสลาย เจ้าฟ้าพระภิกษุรับสั่งว่า
       
         “รูปเป็นสมณะ จะคิดอ่านการแผ่นดินนั้นไม่ควร ท่านทั้งปวงเห็นควรประการใดก็ตามแต่จะคิดกัน”
       
         ผู้เข้าเฝ้าตีความเอาเองว่าทรงเอาด้วย จึงไปเริ่มดำเนินการ แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรกลับเกรงว่าเมื่อทำการสำเร็จแล้วผู้ก่อการอาจจับทั้งพระเชษฐาและพระองค์สำเร็จโทษ ขึ้นครองราชย์เสียเอง จึงนำความไปทูลเจ้าฟ้าเอกทัศน์ ผู้ก่อการทั้งหมดเลยถูกจับ แต่โทษประหารนั้นเจ้าฟ้าอุทุมพรทูลขอไว้ เลยต้องโทษเพียงจองจำ
       
         ในปี พ.ศ.๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ยกทัพมาตีไทย ตีหัวเมืองได้ตลอดจนมาถึงกรุงศรีอยุธยา ขุนนางข้าราชการเห็นว่าพระเจ้าเอกทัศน์รักษาบ้านเมืองไว้ไม่ได้แน่ จึงทูลขอให้เจ้าฟ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยรักษาพระนคร พระเจ้าเอกทัศน์ก็ยอม เพราะจนปัญญาไม่รู้ว่าจะสั่งสู้พม่าได้อย่างไร เจ้าฟ้าอุทุมพรจึงลาผนวชมาบัญชาการรบ พอดีพระเจ้าอลองพญาถูกปืนใหญ่ของตัวเองระเบิด ประชวรหนักจนต้องเลิกทัพกลับไป และสิ้นพระชนม์เมื่อออกไปพ้นด่านเมืองตาก
       
         เมื่อเสร็จศึกพม่า พระเจ้าเอกทัศน์ก็แสดงความไม่ต้องการพระอนุชาอีก ค่ำวันหนึ่งเจ้าฟ้าอุทุมพรเข้าเฝ้าถวายข้อราชการตามปกติ พระเจ้าเอกทัศน์รับสั่งให้เข้าเฝ้าถึงในพระที่ แต่ทรงถอดดาบพาดไว้บนพระเพลา เจ้าฟ้าอุทุมพรก็รู้ความหมายว่าพระเชษฐาไม่ไว้วางพระทัย จึงเสด็จลงเรือพระที่นั่งไปทรงผนวชที่วัดโพธิ์ทองคำหยาด และไปประทับที่พระตำหนักคำหยาด ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศผู้เป็นพระราชบิดาสร้างไว้เป็นที่ประทับแรมเมื่อเสด็จประพาสเมืองอ่างทอง ราษฎรจึงพากันขนานพระนามพระองค์ว่า “ขุนหลวงหาวัด”
       
         ในปี พ.ศ.๒๓๐๗ พระเจ้ามังระ พระโอรสของพระเจ้าอลองพญา ส่งเนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก พระเจ้าเอกทัศน์รับสั่งให้นิมนต์พระราชาคณะเข้ามาอยู่เสียในกำแพงพระนครเพื่อความปลอดภัย พระภิกษุเจ้าฟ้าอุทุมพรก็เสด็จมาด้วย ขุนนางข้าราชการจึงทูลขอให้ลาผนวชมาช่วยป้องกันพระนคร แต่เจ้าฟ้าอุทุมพรเข็ดเสียแล้ว แม้ราษฎรจะเขียนหนังสือใส่บาตรจนเต็มตอนออกบิณฑบาตรก็ไม่ยอม จนปี พ.ศ.๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาก็แตกเสียเมืองแก่พม่า พระเจ้าเอกทัศน์หนีไปได้ แต่ก็ต้องสิ้นพระชนม์เพราะอดพระกระยาหารขณะไปหลบซ่อนพม่า
       
         เนเมียวสีหบดีได้กวาดต้อนชาวกรุงศรีอยุธยารวมทั้งพระภิกษุเจ้าฟ้าอุทุมพรไปพม่า พระเจ้ามังระให้คนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปลำดับเรื่องราวในพงศาวดารไทยจดบันทึกไว้ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๒ อังกฤษยึดพม่าได้ พบหนังสือเล่มนี้อยู่ในหอหลวงพระราชวังมัณฑเล มีชื่อว่า “คำให้การของขุนหลวงหาวัด” จึงนำไปไว้ในหอสมุดเมืองร่างกุ้ง ต่อมาหอวชิรญาณได้ขอคัดลอกมาแปลเป็นภาษาไทย แต่เห็นว่าเป็นคำให้การของคนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปหลายคน ไม่ใช่เจ้าฟ้าอุทุมพรเพียงพระองค์เดียว จึงเรียกชื่อเสียใหม่ว่า “คำให้การของชาวกรุงเก่า”
       
         พระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์พระองค์ที่ ๓๒ ของกรุงศรีอยุธยา ไม่มีโอกาสได้กลับมาแผ่นดินบ้านเกิด คงสวรรคตที่ประเทศพม่า
       
        ปัจจุบัน “พระตำหนักคำหยาด” ซึ่งถูกทอดทิ้งให้รกร้างมาเป็นเวลานานเหลือแต่เพียงผนังอิฐ ๔ ด้าน ประตูและหน้าต่างมีลักษณะโค้งยอดแหลม เหมือนสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ได้รับอิทธิพลมาจากเปอร์เซีย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เป็นอนุสรณ์ให้นึกถึง “ขุนหลวงหาวัด” ซึ่งน้อยนักที่จะมีผู้ไม่ปรารถนาในพระราชบัลลังก์เช่นพระองค์ 

(จำนวนผู้เข้าชม 4159 ครั้ง)


Messenger