“คนัง” เงาะป่าผู้ทะยานด้วยวาสนา มาเป็นมหาดเล็กพิเศษ “คุณพ่อหลวง” ร.๕!!! โดย โรม บุนนาค
“เงาะ” เป็นคนป่าเผ่าหนึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดทางภาคใต้ของไทย ภาษามลายูเรียกว่า “เซมัง” หรือ “ซาไก” แต่คนพวกนี้เรียกตัวเองว่า “ก็อย”
ทุกวันนี้คนเผ่าเงาะก็ยังมีอยู่ แต่ความเจริญของบ้านเมืองทำให้คนป่าเผ่านี้กลายเป็นคนเมืองไปเกือบหมดแล้ว มีทะเบียนสำมะโนครัว เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป นามสกุลที่ตั้งขึ้นก็มักจะมีชื่อตำบลที่อยู่อาศัยร่วมอยู่ด้วย เช่นพวกที่อยู่ยะลาก็มีคำว่า “ธารโต” พวกที่อยู่พัทลุงก็มีคำว่า “บรรพต” เป็นต้น
ในอดีต เงาะป่าซาไกคนหนึ่งมีวาสนาสูงส่ง แม้จะเกิดในดงดอน แต่แรงวาสนาทำให้เขาทะยานมาเป็นคนดังในราชสำนัก ร.๕ ในฐานะมหาดเล็กพิเศษที่โปรดปรานของพระพุทธเจ้าหลวง เฝ้ารับใช้ใกล้ชิดถึงกับเรียกพระองค์ว่า “คุณพ่อ”
ทั้งนี้จากการเสด็จประพาสจังหวัดพัทลุงในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะได้ลูกเงาะมาชุบเลี้ยงไว้สักคนหนึ่ง โดยไม่ให้มีการบังคับจับกุม หลวงทิพกำแหง ผู้รั้งราชการเมืองพัทลุง จึงรับหน้าที่สนองพระราชประสงค์ และบอกต่อไปยัง นายสินนุ้ย ผู้ใหญ่บ้านที่คุ้นเคยกับพวกเงาะดี ในที่สุดก็เห็นว่ามีเงาะกลุ่มหนึ่งกำลังจะโยกย้ายที่อยู่ ในกลุ่มนี้มีเด็กผู้ชายอายุ ๑๐ ขวบอยู่คนหนึ่งชื่อ “คนัง” กำพร้าพ่อแม่ และจะต้องได้รับความลำบากในการเคลื่อนย้าย เพราะไม่มีใครดูแลอุปการะ แต่การเกลี้ยกล่อมให้สมัครใจคงไม่สำเร็จแน่ จะต้องใช้วิธีหลอกล่อจับตัว จึงมอบหมายให้นายยาง หรือยัง เงาะด้วยกันเป็นผู้รับหน้าที่นี้
วันหนึ่งขณะคนังไปเที่ยวป่ากับ “ไม้ไผ่” เพื่อนเกลอ นายยังได้ล่อหลอกให้มาดูมโนราของโปรดของเงาะที่บ้าน และปรนเปรออาหารเสียอิ่มแปล้ คนังง่วงนอนหลับไป นายยังจึงได้โอกาสอุ้มไปให้ผู้ใหญ่สินนุ้ยนำตัวไปถวาย
คนังตื่นขึ้นมาก็พบว่ากำลังอยู่ในเต็นท์ที่หลวงทิพกำแหงไปนอนรอรับ ไม่ใช่ทับที่พำนักของตัว ก็ร้องไห้แผลงฤทธิ์ดิ้นหนี หลังจากปลอบประโลมจนคนังคลายความตื่นตระหนกเลิกร้องไห้แล้ว แต่ก็ยังดิ้นรนที่จะกลับไปสู่ถิ่นให้ได้ หลวงทิพกำแหงพยายามปลอบขวัญตลอดเวลาที่นั่งหลังช้างมาด้วยกัน คนังก็ยังตื่นกลัวไม่รู้ว่ากำลังถูกพาตัวไปไหน แม้จุดหมายปลายทางจะเป็นสถานที่ที่ทำให้ชีวิตของเขาได้พบกับความเริดหรูเฟื่องฟูยิ่งกว่าเงาะคนใดจะได้รับ
เมื่อมาถึงวังหลวง มีพิธีทำขวัญคนังกันอย่างเอิกเกริก มีพราหมณ์มาอ่านคาถาทำขวัญ ลั่นฆ้องสนั่นสามรา คนังได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีและเข้มงวดกวดขันในด้านสุขภาพ เพราะเกรงกันว่าจะเจ็บป่วยจากการผิดน้ำผิดอากาศที่เปลี่ยนจากป่ามาสู่เมือง มีพี่เลี้ยงถึง ๒ คนช่วยอาบน้ำแต่งตัว หัดให้ใช้ช้อนส้อมกินข้าวและภาษาพูด แต่คนังก็ไม่ได้เจ็บป่วยแต่อย่างใด
พระองค์เจ้าสายสวรีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ พระอรรคชายา ทรงเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนังด้วยความรัก ฝึกสอนให้รู้จักระเบียบต่างๆของราชสำนัก เพราะคนังจะต้องอยู่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระพุทธเจ้าหลวงในฐานะมหาดเล็กพิเศษ ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงเจ้าพระยายมราช สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เกี่ยวกับพระเมตตาของพระอรรคชายาที่มีต่อคนังว่า
“...อ้ายคนังตั้งแต่มายังไม่เจ็บเลย เจ้าสาย (กรมพระสุทธาสินีนาฎ) นั้นหลงรักเหลือเกินทีเดียว เพราะมันไม่ได้ไปเที่ยวข้างไหนเลย อยู่แต่บนเรือน ช่างประจบด้วยความรู้ความประมาณตัวเองในสันดาน ทั้งถือตัวว่าเป็นลูก ก็พูดอยู่เสมอว่าลูกข้า ไม่ได้ไว้ตัวเทียบเจ้านายลูกเธอ รักแลนับถือไม่เลือกว่าใคร ไว้ตัวเองเสมอหม่อมเจ้า ไม่มีใครสั่งสอนเลย”
เมื่อได้รับการดูแลและพระเมตตาจากพระอรรคชายาเช่นนี้ คนังจึงเรียกท่านว่า “คุณแม่” เรียกพระเจ้าอยู่หัวว่า “คุณพ่อหลวง” และเรียกสมเด็จหญิงเล็ก หรือสมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดลว่า “คุณพี่”
ชีวิตในรั้ววังชั้นในของคนังแตกต่างจากชีวิตในป่าเมืองพัทลุงอย่างสิ้นเชิง แต่คนังก็ปรับตัวรับสภาพใหม่ได้อย่างมีความสุข ทำตัวให้เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของคนทั่วไป
พระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราชได้กล่าวตอนหนึ่งอีกว่า
“...การที่แสดงกิริยาเศร้าโศกเวลาพูดถึงบ้านอย่างแต่ก่อนไม่มี ด้วยว่ารู้จักคนกว้างขวาง ตั้งแต่เจ้านาย ข้าราชการผู้ใหญ่ลงไปจนถึงผู้น้อย ทั้งข้างหน้าข้างใน เขาแสดงความเมตตาเล่นหัวได้ทั่วไป อยู่ข้างจะเพลิดเพลินมาก อดนอนก็ทน แลคุณสมบัติในส่วนตัวซึ่งได้สังเกตแต่แรกไม่มีเสื่อมทรามลงไปคือ ตาไว ความคิดเร็ว จงรักภักดีมาก กตัญญูมาก นับว่าเป็นเฟเวอริตของราชสำนักนี้ได้...”
เครื่องแต่งตัวชุดมหาดเล็กพิเศษของคนังออกแบบใหม่โดยเฉพาะ เป็นสีแดงสด อันเป็นสีโปรดของเงาะทั่วไป ตามเสด็จฯไปทุกหนทุกแห่งเป็นที่สะดุดตา เพราะชุดสีแดงคนแต่งตัวดำ ยิ้มเห็นฟันขาว
พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง “เงาะป่า” ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ซึ่งในคำนำของบทละครเรื่องนี้ทรงอธิบายไว้ว่า
“...ส่วนศัพท์ภาษาก็อยู่ไล่เลียงจากอ้ายคนังทั้งนั้น แต่ไม่ใช่เลียงขึ้นสำหรับหนังสือเล่มนี้ ได้ชำระกันแต่แรกมาเพื่อจะอยากรู้รูปภาษาว่ามันเป็นอย่างไร แต่คำให้การนั้นได้มากแต่เรื่องนก หนู ต้นไม้ รากไม้ เพราะมันยังเป็นเด็ก...”
ทรงให้ โรเบิร์ต เลนซ์ ช่างภาพฝรั่ง ถ่ายรูปคนังในเครื่องแต่งกายชุดต่างๆ ซึ่งคนังก็ชอบใจมากที่เห็นรูปของตัวเองและคิดถึงญาติพี่น้องในป่าที่จากมา ไม่รู้ว่าย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ไหนกันบ้าง อยากจะส่งรูปเหล่านี้ไปให้ดู เพื่อจะอวดว่าเดี๋ยวนี้เขาโตขึ้นและโก้ขึ้นมาก ทั้งไม่เจ็บไข้ได้ป่วยเลย
พระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงรับเป็นพระธุระจัดการให้มหาดเล็กคนโปรด โดยมีพระราชหัตถเลขาไปถึงเจ้าพระยายมราชพร้อมด้วยรูปของคนัง
“...ด้วยอ้ายคนังฝากรูปไปให้พี่น้อง ได้ส่งออกมาด้วยแล้ว ถ้ามีช่องทางที่ใครไปตรวจราชการที่นั้น ขอให้นำส่งให้มันด้วย...”
จะมีใครในแผ่นดินที่ทำได้เช่นนี้ นี่คือวาสนาของเงาะป่าที่ชื่อ คนัง แห่งเมืองพัทลุง
รูปของคนังไม่ว่าในชุดเงาะของบทละคร ที่ไม่ต้องใส่หัวเงาะเหมือนคนอื่น หรือในท่าอื่นๆ ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมาก พระพุทธเจ้าหลวงจึงให้นำออกจำหน่ายเป็นการกุศลในงานประจำปีของวัดเบญจมบพิตร ซึ่งเป็นงานใหญ่ในยุคนั้น ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราชในเรื่องนี้ว่า
“...บัดนี้ได้ส่งรูปอ้ายคนังที่ขายเมื่องานวัด (เบญจมบพิตร) มีคนชอบมาก เดิมพิมพ์ขึ้นไว้แค่ ๒๓๐ เร่งกันให้พิมพ์ในเวลางาน กระดาษเหลือเท่าใดก็ได้พิมพ์อีกสัก ๓๐-๔๐ รูปขายไม่ทัน ยังหาซื้อกันเรื่อยอยู่จนเดี๋ยวนี้ อีกรูปหนึ่งนั้นได้ถ่ายในวันก่อนเริ่มงาน ด้วยนึกว่าฝรั่งจะไม่เข้าใจเรื่องเงาะ จึงได้ถ่ายรูปแต่งธรรมดาก็ถูกต้อง ฝรั่งชอบรูปนั้นมากกว่ารูปที่แต่งเป็นเงาะ ขายในเวลางานแผ่นละ ๓ บาท ได้เงิน ๑,๐๐๐ บาทเศษ แบ่งออกเป็นสามส่วน ให้วัดส่วนหนึ่ง เป็นค่ากระดาษค่าน้ำยาส่วนหนึ่ง เป็นของอ้ายคนังส่วนหนึ่ง ได้เงินส่วนอ้ายคนังเกือบ ๔๐๐ บาท เดี๋ยวนี้สมบัติอ้ายคนังมีกว่า ๔๐๐ บาทขึ้นไปแล้ว ถ้าอยู่ไปจนแก่เห็นจะมีเงิน เพราะมันไม่ได้ใช้เลย.....”
ในพระราชหัตถเลขา อีกตอนได้กล่าวไว้ว่า
“...เสียแต่อย่างไรๆ ก็ยังนับเงินไม่ถูกอยู่เช่นนั้นเอง หนังสือเห็นจะพอสอนง่ายกว่าเลข เลขนั้นดูเหมือนไม่มีกิฟสำหรับชาติมันทีเดียว ได้ลองให้ขายของ ซ้อมกันอยู่หลายวัน ก็ยังรางๆอยู่เช่นนั้น สาเหตุนั้นด้วยมันไม่รู้จักรักเงิน ยังไม่รู้เลยว่าเงินมีราคาอย่างไรจนเดี๋ยวนี้...”
ต่อมายังทรงให้คนังถ่ายรูปในชุดตามเสด็จเต็มยศ อัดจำหน่ายในราคารูปละ ๑๐ บาท ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารซื้อกันมาก เงินที่ได้โปรดฯให้นำไปบำรุงการกุศลวัดวาอารามต่างๆ
การมีส่วนร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลหาเงินเจ้าวัดด้วยการขายรูปตัวเองนี้ เป็นกุศลส่งให้คนังเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าอยู่หัว ได้รับความรักใคร่เอ็นดูจากเจ้านายและข้าราชบริพารทั่วไป เป็นมหาดเล็กที่เด่นที่สุดของราชสำนัก ชีวิตของคนังได้รับความสุขความอบอุ่นอย่างที่ไม่เคยมีชาวป่าชาวดอยคนใดจะได้รับ
แม้พระพุทธเจ้าหลวงจะทรงโปรดคนังเพียงไร แต่เมื่อคนังอายุเข้า ๑๔ ปีก็ไม่สามารถจะอยู่ในพระราชวังต่อไปได้ ต้องออกไปอยู่ข้างนอกเหมือนผู้ชายคนอื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวทรงฝากคนังไว้กับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภให้เป็นผู้เลี้ยงดูต่อ โดยคนังจะต้องมาเข้าเวรมหาดเล็กเช่นเคย
โลกอิสระภายนอกวังทำให้ชีวิตคนังเปลี่ยนไปอีกแบบ ประกอบกับเริ่มเป็นหนุ่ม ทั้งยังมีฐานะการเงินระดับขุนนางทีเดียว ที่ “คุณพ่อหลวง”ว่าคนังยังไม่รู้เลยว่าเงินมีราคาอย่างไร ก็เริ่มรู้ คนังจึงท่องราตรีไปตามสถานเริงรมย์ต่างๆ ที่มีอยู่ในสมัยนั้น คบเพื่อนประเภทเสเพล ที่สำคัญคือ เริ่มรักผู้หญิง
ชีวิตสนุกสนานนอกวังยามราตรี ทำให้คนังเพลิดเพลินลุ่มหลงจนถึงขั้นทิ้งการเข้าเวร พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วในความเหลวไหลของคนัง แม้จะทรงเมตตาอย่างไรคนังก็ต้องได้รับโทษตามกฎระเบียบ คนังจึงถูกลงพระอาญา รับสั่งให้เฆี่ยนต่อหน้าข้าราชบริพาร เพื่อมิให้กระทำความผิดเช่นนี้อีก
ชีวิตของคนังเริ่มเฉาและตกต่ำลงเมื่อพระพุทธเจ้าหลวงสวรรคต คนังท่องเที่ยวตามอำเภอใจ แม้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารทั้งหลายยังคงให้ความเมตตาแก่คนังเช่นเดิม แต่คนังใจแตกเสียแล้ว เที่ยวเตร่และคบเพื่อนเสเพลมากขึ้น มีเรื่องผู้หญิงมาเกี่ยวพันมากขึ้น จนกระทั่งต้องจบชีวิตลงในวัยหนุ่มกำดัดนั้นเอง
สาเหตุการตายของคนังไม่ปรากฏชัด บ้างก็ว่าเขาเสียชีวิตเพระโรคร้ายที่ติดมาจากผู้หญิงเสเพล
บ้างก็ว่า แม้คนังจะแสดงเป็นเงาะในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง “เงาะป่า” โดยไม่ต้องใส่หัวเงาะเช่นคนอื่น แต่เขาก็ไม่อาจถอดรูปเงาะเป็นพระสังข์ได้ ฉะนั้นยากที่จะหารจนามาเสี่ยงพวกมาลัยให้ คนังจึงต้องปีนบ้านขึ้นไปหารจนาในยามวิกาล แต่นางก็ไม่เล่นด้วยและร้องโวยวายขึ้น คนังจึงโดนทั้งไม้พลองกระบองสั้นจนซมซานไปด้วยความบอบช้ำ
ไหนจะช้ำทั้งกายช้ำทั้งใจ ในที่สุด คนัง เงาะที่ทะยานจากป่ามาสู่ราชสำนักด้วยแรงวาสนา ก็สิ้นวาสนาไปก่อนวัยอันควร เหลือไว้เพียงตำนานให้เล่าขานกันถึง ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวของคนป่าเผ่าซาไก ที่ได้มาเป็นมหาดเล็กพิเศษคนโปรดของสมเด็จพระปิยะมหาราช
(จำนวนผู้เข้าชม 17988 ครั้ง)