...

ต้นทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดกำแพงเพชร
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เมืองชากังราว : ต้นทุนทางวัฒนธรรมของจังหวัดกำแพงเพชร
...
วัฒนธรรม (Culture) คือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นต้น และสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ และหมายรวมถึงแบบแผนพฤติกรรมทั้งหมดของสังคมที่สืบทอดกันต่อมานับแต่อดีตผ่านการเรียนรู้ คิดค้น ดัดแปลงจากสิ่งแวดล้อม เป็นเทคโนโลยีแบบแผนประเพณี ศิลปกรรม เป็นต้น
.
ทุนทางวัฒนธรรม หมายถึง สิ่งดีงามที่มีอยู่เดิมของสังคมที่สั่งสมสืบทอดกันมา โดยอาจเป็นวัฒนธรรมสิ่งที่จับต้องได้ (Tangible) อาทิ วัดวาอาราม โบราณสถาน หรือวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible) เช่น ประเพณี ความเชื่อ
..
Pierre Bourdieu นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส ได้เสนอแนวคิดเรื่องทุนทางวัฒนธรรมว่าจำแนกเป็น ๓ ประเภท คือ  
.
๑. ทุนภายในตัวบุคคล (embodied state) อยู่ในรูปแบบของทุนทางวัฒนธรรมที่ผ่านการสั่งสมในตัวบุคคลมาเป็นเวลานาน และแสดงออกผ่านลักษณะทางกายภาพ พฤติกรรม หรือความรู้สึกนึกคิดผ่านตัวบุคคลนั้น ๆ
.
๒. ทุนทางรูปธรรม (objectified state) ทุนทางวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบวัตถุ โดยวัตถุนั้นสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ เช่น รูปภาพ หนังสือ เครื่องดนตรี เป็นต้น
.
๓. ทุนทางสถาบัน (institutionalized state) ทุนทางวัฒนธรรมที่อยู่ในรูปแบบของสังคม เกิดจากการเชื่อมโยงคุณค่าของบุคคลหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับสถาบัน องค์กร หรือสถานที่ซึ่งมีความเกี่ยวข้องโดยตรงในฐานะเป็นแหล่งกำเนิดหรือที่มาอันจะนำไปสู่การรับรองคุณค่าหรือคุณสมบัติที่อยู่ในบุคคลหรือวัตถุนั้น ๆ
..
เมืองชากังราว เป็นเมืองโบราณที่ปรากฏชื่อตั้งแต่สมัยสุโขทัยในศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. ๑๙๑๑) สืบเนื่องมายังหลักฐานที่กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยอยุธยา ได้แก่ กฎหมายตราสามดวง (พ.ศ. ๑๘๙๙ รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง) พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (พ.ศ. ๒๒๒๓) พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (พ.ศ. ๒๓๓๘) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑) ทั้งนี้จากหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวยังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของเมืองชากังราวได้แน่ชัด
.
พระวินิจฉัยในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับเรื่องเมืองชากังราวปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาครั้งแรกในการจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗  และทรงพระนิพนธ์อธิบายเพิ่มเติมในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑  ว่าเมืองชากังราวเป็นเมืองเดิมของเมืองนครชุมซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำปิง ใต้ปากคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร และเป็นความเชื่อที่แพร่หลายในเวลาต่อมา ดังตัวอย่างความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง
.
“...เรื่องเมืองกำแพงเพชรเก่าใหม่ตรวจในสมัยต่อมาได้ความดังนี้ ที่เรียกว่าเมือง “นครปุ” นั้น ที่ถูกคือเมือง “นครชุม”...เมืองนี้ เมืองเดิมที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมืองชากังราว ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกใต้ปากคลองสวนหมาก เมืองกำแพงเพชรที่ริมน้ำทางฝั่งตะวันออกเป็นเมืองสร้างทีหลัง...”
.
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการที่สันนิษฐานคล้ายคลึงกันว่าเมืองชากังราวคือเมืองเดิมของเมืองกำแพงเพชร หรือตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร เช่น ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร (บทความเรื่อง หลักการสอบค้นเมืองในสมัยสุโขทัย ในหนังสือ ผลงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทย และ เรื่องของเกลือ (ไม่) เค็ม)  รองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม (บทความเรื่อง เมืองกำแพงเพชร ในรายงานการสัมนาประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร)  และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธิดา สาระยา (บทความเรื่อง กำแพงเพชร - รัฐอิสระ ในรายงานการสัมนาประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร)  
..
จากความเชื่อที่แพร่หลายและความภาคภูมิใจว่าเมืองชากังราวคือเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรนั้น ทำให้ประชาชนในจังหวัดกำแพงเพชรนำทุนทางวัฒนธรรมนี้มาเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์เพื่อการบริการในท้องถิ่น สอดคล้องกับแนวคิดของ Pierre Bourdieu ในการนำทุนทางวัฒนธรรมประเภทที่สามทุนทางสถาบัน (institutionalized state) มาประยุกต์ใช้ โดยการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ของตนให้ตามชื่อเมืองเดิมในอดีตอันเป็นรากฐานวัฒนธรรมที่สืบต่อมายังปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด และความเป็นเอกลักษณ์ของชื่อที่บ่งบอกถึงจังหวัดกำแพงเพชร อาทิเช่น บะหมี่ชากังราว (ประมาณ ๘๐ ปีมาแล้ว ) เฉาก๊วยชากังราว (พ.ศ. ๒๕๔๔ ) สถานประกอบการ เช่น โรงแรมชากังราวริเวอร์วิว (พ.ศ. ๒๕๒๐ ) รวมถึงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกำแพงเพชร เช่น การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ภาค ๕ ครั้งที่ ๔๐ “ชากังราวเกมส์” ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นต้น
...
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. (๒๕๕๐). ศัพทานุกรมโบราณคดี. สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. (๒๕๕๗). ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เรื่อง การให้ทุนอุดหนุนการวิจัยทางวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ประเภททุนทั่วไป. ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๗.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (๒๔๕๗). พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กับคำอธิบายของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เล่ม ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๒). หอสมุดวชิรญาณ.
ธิดา สาระยา. (๒๕๒๘). กำแพงเพชร - รัฐอิสระ. ใน รายงานการสัมนาประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร. (หน้า ๓๐๘-๓๑๗).  วิทยาลัยครูกำแพงเพชร.
ประเสริฐ ณ นคร. (๒๕๑๔). หลักการสอบค้นเมืองในสมัยสุโขทัย. ใน ผลงานค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทย และ เรื่องของเกลือ (ไม่) เค็ม. (หน้า ๔๔-๔๗). โรงพิมพ์อักษรสมัย.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๑๙). เที่ยวเมืองพระร่วง (พิมพ์ครั้งที่ ๘). มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์.
ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๒๘). เมืองกำแพงเพชร. ใน รายงานการสัมนาประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร. (หน้า ๒๐๙-๒๑๕).  วิทยาลัยครูกำแพงเพชร.
เอกราช จันทร์กลับ. (๒๕๖๓). แนวทางการบริหารจัดการทุนทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ : กรณีศึกษาสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. [วิทยานิพนธ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย].
Bourdieu, Pierre. (1986). The Forms of Capital. in Handbook of Theory and Research for the Sociology of Education (P 241-258). Greenwood.













(จำนวนผู้เข้าชม 173 ครั้ง)


Messenger