พระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเมืองชากังราว
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
พระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเมืองชากังราว
..
เมืองชากังราวปรากฏในหลักฐานชั้นต้นหรือปฐมภูมิ (primary source) ซึ่งเป็นหลักฐานที่ทำขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ คือ ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. ๑๙๑๑) และปรากฏในหลักฐานชั้นรองหรือทุติยภูมิ (secondary source) เป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ไม่ได้เกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ ได้แก่ กฎหมายตราสามดวง (พ.ศ. ๑๘๙๙ รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง) พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (พ.ศ. ๒๒๒๓) พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (พ.ศ. ๒๓๓๘) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑) ทั้งนี้ไม่ว่าจากเอกสารกฎหมายตราสามดวง ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ หรือพระราชพงศาวดารทั้งสามฉบับดังกล่าว ล้วนแต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของเมืองชากังราวได้
..
พระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
.
หนังสือเรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ โดยใช้พระนามแฝงว่า “ราม วชิราวุธ”
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับเมืองชากังราวไว้ในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ดังนี้
.
“...ข้าพเจ้าเชื่อตามความเห็นของท่านนักเลงโบราณคดีบางท่านว่าเมืองชากังราวที่กล่าวถึงในพงศาวดารกรุงเก่าเป็นหลายครั้งนั้นไม่ใช่อื่นไกล คือเมืองสวรรคโลกนั้นเอง พิเคราะห์ดูตามข้อความในพงศาวดาร ซึ่งมีอยู่ว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) ได้เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวถึง ๓ ครั้ง คือจุลศักราช ๗๓๕ ปีฉลู เบญจศก เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราว พระยาชัยแก้ว พระยากำแหง เจ้าเมืองออกต่อรบ พระยาชัยแก้วตาย แต่พระยากำแหงและไพร่พลหนีเข้าเมืองได้ ทัพหลวงก็ยกกลับคืนพระนคร นี่เป็นครั้งที่ ๑ จุลศักราช ๗๓๘ ปีมะโรง อัฐศก เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวได้ พระยากำแหงกับท้าวผากองคิดกันว่าจะยกตีทัพหลวงไม่สำเร็จเลิกหนีไป ทัพหลวงตีทัพผากองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แล้วก็เลิกทัพหลวงกลับคืนพระนคร นี่เป็นครั้งที่ ๒ จุลศักราช ๗๔๐ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก ไปเอาเมืองชากังราวอีกเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม ตรวจดูกับพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้ความงอกออกไปอีกว่าขุนหลวงพงัวได้เสด็จไปเอาเมืองชากังราวอีกครั้ง ๑ เป็นครั้งที่ ๔ เมื่อจุลศักราช ๗๕๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ครั้งนี้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพงัว) ทรงพระประชวรหนักต้องเสด็จกลับ ตามข้อความเหล่านี้พึงเข้าใจได้อยู่แล้วว่าเมืองชากังราวมิใช่เมืองเล็กน้อย เป็นเมืองสำคัญอันหนึ่ง แต่เมื่อก่อนได้พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐมานั้น ไม่มีผู้ใดเดาได้เลยว่าเมืองชากังราวคือเมืองใดอยู่แห่งหนตำบลใด มาได้หนทางเดาในพงศาวดารฉบับที่กล่าวแล้วนั้น คือแห่งหนึ่งมีข้อความกล่าวไว้ว่า “ศักราช ๘๑๓ มะแมศก ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ก็เลยยกทัพกลับคืน” ดังนี้จึงเป็นเครื่องนำให้สันนิษฐานว่าเมืองชากังราวนั้น คือเมืองสวรรคโลก เพราะปรากฏอยู่ว่ามหาราช (เมืองเชียงใหม่) ได้ชากังราวแล้วเลยไปเอาเมืองสุโขทัย ต้องเข้าใจว่าเป็นเมืองใกล้เคียงกัน ถ้าจะนึกถึงทางที่เดินก็ดูถูกต้องดี แต่เหตุไฉนจึงเรียกชื่อเมืองสวรรคโลกว่าชากังราว ข้อนี้แปลไม่ออก...”
..
เนื่องจากเนื้อความในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้ปรากฏว่าศักราช ๗๕๐ ปีมะโรงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพ่องั่วแห่งอยุธยา) ได้เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเป็นครั้งที่ ๔ อนุมานว่าเมืองชากังราวเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง และศักราช ๘๑๓ มะแมศก ครั้งนั้น มหาราช (พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา) มาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าเมืองชากังราว คือ เมืองสวรรคโลก เพราะปรากฏอยู่ว่าพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ได้เมืองชากังราวแล้วเลยไปเอาเมืองสุโขทัย จึงสันนิษฐานว่าชากังราวน่าจะเป็นเมืองที่ใกล้เคียงกับเมืองสุโขทัย เพียงแต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุในการเรียกชื่อเมืองสวรรคโลกว่าชากังราวได้
...
เอกสารอ้างอิง
กรรมการหอสมุดวชิรญาณ. (๒๔๕๐). พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. โรงพิมพ์ไทย.
กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (๒๕๔๒). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๙). กรมศิลปากร.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. (๒๕๕๙). ศรีปัญญา.
ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (๒๕๕๙). โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยฉบับคู่มือครูสังคมศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ ๒). คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๖๔). เที่ยวเมืองพระร่วง. ศรีปัญญา.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (๒๕๔๘). ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.
พระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเมืองชากังราว
..
เมืองชากังราวปรากฏในหลักฐานชั้นต้นหรือปฐมภูมิ (primary source) ซึ่งเป็นหลักฐานที่ทำขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ คือ ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. ๑๙๑๑) และปรากฏในหลักฐานชั้นรองหรือทุติยภูมิ (secondary source) เป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ไม่ได้เกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์นั้น ๆ ได้แก่ กฎหมายตราสามดวง (พ.ศ. ๑๘๙๙ รัชกาลพระเจ้าอู่ทอง) พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (พ.ศ. ๒๒๒๓) พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) (พ.ศ. ๒๓๓๘) และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา (พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑) ทั้งนี้ไม่ว่าจากเอกสารกฎหมายตราสามดวง ศิลาจารึกเขาสุมนกูฏ หรือพระราชพงศาวดารทั้งสามฉบับดังกล่าว ล้วนแต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ตั้งของเมืองชากังราวได้
..
พระบรมราชวินิจฉัยในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
.
หนังสือเรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ โดยใช้พระนามแฝงว่า “ราม วชิราวุธ”
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับเมืองชากังราวไว้ในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง ดังนี้
.
“...ข้าพเจ้าเชื่อตามความเห็นของท่านนักเลงโบราณคดีบางท่านว่าเมืองชากังราวที่กล่าวถึงในพงศาวดารกรุงเก่าเป็นหลายครั้งนั้นไม่ใช่อื่นไกล คือเมืองสวรรคโลกนั้นเอง พิเคราะห์ดูตามข้อความในพงศาวดาร ซึ่งมีอยู่ว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) ได้เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวถึง ๓ ครั้ง คือจุลศักราช ๗๓๕ ปีฉลู เบญจศก เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราว พระยาชัยแก้ว พระยากำแหง เจ้าเมืองออกต่อรบ พระยาชัยแก้วตาย แต่พระยากำแหงและไพร่พลหนีเข้าเมืองได้ ทัพหลวงก็ยกกลับคืนพระนคร นี่เป็นครั้งที่ ๑ จุลศักราช ๗๓๘ ปีมะโรง อัฐศก เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวได้ พระยากำแหงกับท้าวผากองคิดกันว่าจะยกตีทัพหลวงไม่สำเร็จเลิกหนีไป ทัพหลวงตีทัพผากองแตก ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แล้วก็เลิกทัพหลวงกลับคืนพระนคร นี่เป็นครั้งที่ ๒ จุลศักราช ๗๔๐ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก ไปเอาเมืองชากังราวอีกเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม ตรวจดูกับพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้ความงอกออกไปอีกว่าขุนหลวงพงัวได้เสด็จไปเอาเมืองชากังราวอีกครั้ง ๑ เป็นครั้งที่ ๔ เมื่อจุลศักราช ๗๕๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก ครั้งนี้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพงัว) ทรงพระประชวรหนักต้องเสด็จกลับ ตามข้อความเหล่านี้พึงเข้าใจได้อยู่แล้วว่าเมืองชากังราวมิใช่เมืองเล็กน้อย เป็นเมืองสำคัญอันหนึ่ง แต่เมื่อก่อนได้พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐมานั้น ไม่มีผู้ใดเดาได้เลยว่าเมืองชากังราวคือเมืองใดอยู่แห่งหนตำบลใด มาได้หนทางเดาในพงศาวดารฉบับที่กล่าวแล้วนั้น คือแห่งหนึ่งมีข้อความกล่าวไว้ว่า “ศักราช ๘๑๓ มะแมศก ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ก็เลยยกทัพกลับคืน” ดังนี้จึงเป็นเครื่องนำให้สันนิษฐานว่าเมืองชากังราวนั้น คือเมืองสวรรคโลก เพราะปรากฏอยู่ว่ามหาราช (เมืองเชียงใหม่) ได้ชากังราวแล้วเลยไปเอาเมืองสุโขทัย ต้องเข้าใจว่าเป็นเมืองใกล้เคียงกัน ถ้าจะนึกถึงทางที่เดินก็ดูถูกต้องดี แต่เหตุไฉนจึงเรียกชื่อเมืองสวรรคโลกว่าชากังราว ข้อนี้แปลไม่ออก...”
..
เนื่องจากเนื้อความในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้ปรากฏว่าศักราช ๗๕๐ ปีมะโรงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพ่องั่วแห่งอยุธยา) ได้เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเป็นครั้งที่ ๔ อนุมานว่าเมืองชากังราวเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง และศักราช ๘๑๓ มะแมศก ครั้งนั้น มหาราช (พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา) มาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าเมืองชากังราว คือ เมืองสวรรคโลก เพราะปรากฏอยู่ว่าพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา ได้เมืองชากังราวแล้วเลยไปเอาเมืองสุโขทัย จึงสันนิษฐานว่าชากังราวน่าจะเป็นเมืองที่ใกล้เคียงกับเมืองสุโขทัย เพียงแต่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุในการเรียกชื่อเมืองสวรรคโลกว่าชากังราวได้
...
เอกสารอ้างอิง
กรรมการหอสมุดวชิรญาณ. (๒๔๕๐). พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. โรงพิมพ์ไทย.
กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. (๒๕๔๒). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ (พิมพ์ครั้งที่ ๙). กรมศิลปากร.
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. (๒๕๕๙). ศรีปัญญา.
ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. (๒๕๕๙). โบราณคดีและประวัติศาสตร์ในประเทศไทยฉบับคู่มือครูสังคมศึกษา (พิมพ์ครั้งที่ ๒). คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (๒๕๖๔). เที่ยวเมืองพระร่วง. ศรีปัญญา.
สำนักหอสมุดแห่งชาติ. (๒๕๔๘). ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. กรมศิลปากร.
(จำนวนผู้เข้าชม 224 ครั้ง)