มกรสังคโลกที่พบจากการดำเนินการทางโบราณคดีที่วัดตะแบกคู่
#องค์ความรู้อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
มกรสังคโลกที่พบจากการดำเนินการทางโบราณคดีที่วัดตะแบกคู่ เมืองกำแพงเพชร
..
จากการดำเนินการทางโบราณคดี ณ วัดตะแบกคู่ โดยอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในปีพุทธศักราช 2558 นั้น ได้พบหลักฐานเป็นชิ้นส่วนประติมากรรมมกรสังคโลก สภาพค่อนข้างสมบูรณ์จำนวน 2 ชิ้น ลักษณะเขียนลวดลายด้วยสีน้ำตาลเข้มบนพื้นสีขาวนวล แจกแจงขนาดดังนี้
.
ชิ้นที่ 1 มีขนาดส่วนฐานกว้าง 16 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร และสูง 53 เซนติเมตร
.
ชิ้นที่ 2 มีขนาดส่วนฐานกว้าง 18 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร และสูง 78 เซนติเมตร
..
มกร เป็นคำในภาษาสันสกฤต อ่านว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน เป็นสัตว์ในเทพนิยายที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณ ลักษณะคล้ายสัตว์น้ำ มีสองเท้า หรือสี่เท้า ส่วนปากคล้ายจระเข้ มีงวงเหมือนช้าง ส่วนหางคล้ายปลาซึ่งบางครั้งพบส่วนของปลายหางม้วนเป็นลายก้านขด สันนิษฐานว่าเป็นคติที่เกิดขึ้นในอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ 3-6 พบลักษณะเป็นสัตว์ที่มีส่วนหัวเป็นช้าง ส่วนลำตัวและหางเป็นปลา หรือเป็นมกรที่มีส่วนหัวเป็นรูปจระเข้ประดับที่โบราณสถานสาญจี และภารหุต ในเวลาต่อมามักพบการสร้างมกรมีลักษณะคล้ายส่วนของสัตว์หลากหลายชนิดมากขึ้นอันล้วนแล้วแต่เป็นสัตว์ที่มีความหมายในทางมงคลทั้งสิ้น อาทิเช่น สิงโต นาค มังกร แพะ และกวาง
.
รูปแบบและลวดลายของมกรสังคโลก ศิลปะสุโขทัย สันนิษฐานว่าเกิดจากการสร้างสรรค์โดยการนำลักษณะของรูปแบบศิลปะเขมรที่ปรากฏในเมืองโบราณสุโขทัย และอิทธิพลรูปแบบศิลปะจีนมาผสมผสานกัน โดยมกรจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัย มักมีลักษณะหน้าตาคล้ายนาค บางครั้งส่วนหัวคล้ายสิงห์ มีหงอน งวง เขา และหู มักพบในลักษณะอ้าปาก มีเขี้ยว เห็นฟันชัดเจน และเครายาว บางชิ้นมีการคาบก้อนลักษณะกลมไว้ในปาก (คาบแก้ว) ลำตัวเป็นเกล็ด มีขาหน้าสองขา มีลวดลายเครื่องประดับส่วนคอ ส่วนน่องจนถึงกรงเล็บ ส่วนใหญ่จะทำเป็นลำตัวทอดยาวอยู่บนฐานปลายมน ด้านล่างเจาะเป็นรูรูปวงกลม ภายในลำตัวกลวง สันนิษฐานว่าใช้ประกอบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ได้แก่ เป็นส่วนประกอบเครื่องบนหลังคา และประดับบันไดทางเข้าโบราณสถาน
.
มกรมีเทคนิคการปั้นและการตกแต่งลวดลายเป็นรูปแบบเฉพาะ คือ ปั้นลำตัวแยกจากส่วนหัว ขึ้นรูปด้วยมือ แล้วตกแต่งด้วยการปั้นแปะเพิ่ม ขูดขีดทำให้เกิดร่องหรือลวดลาย ส่วนหัวค่อนข้างหนาและหนักกว่าส่วนลำตัว ลำตัวกลวงและมีรู เพื่อใช้เป็นส่วนยึดติดกับโครงสร้างอื่น ๆ ทาน้ำดินสีขาว และเขียนลวดลายต่าง ๆด้วยสีน้ำตาลหรือสีดำ เช่น ลายลูกประคำ ลายกระจัง ลายกระหนก เป็นต้น จากนั้นเคลือบด้วยน้ำเคลือบสีขาวนวล
..
จากการดำเนินการทางโบราณคดีที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรมักพบชิ้นส่วนมกรสังคโลกหลายแห่ง โดยพบประติมากรรมมกรสังคโลกลักษณะเกือบสมบูรณ์ ได้แก่ วัดอาวาสใหญ่ และวัดฆ้องชัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
.
จากข้อมูลดังกล่าวสันนิษฐานว่ามกรที่พบจากการดำเนินการทางโบราณคดีที่วัดตะแบกคู่นี้ เป็นผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาเมืองสุโขทัย สำหรับใช้เป็นเครื่องประกอบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม เช่น เป็นส่วนประกอบเครื่องบนหลังคา หรือประดับบันไดทางเข้าโบราณสถาน และน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับมกรที่พบในโบราณสถานใกล้เคียงอันได้แก่ วัดอาวาสใหญ่ และวัดฆ้องชัย คืออายุประมาณราวพุทธศตวรรษที่ 20-21
.
การประดับพุทธศาสนสถานด้วยผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาเมืองสุโขทัยในเมืองกำแพงเพชรเป็นการแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ทางหนึ่งถึงการเป็นเมืองร่วมสมัยและการรับอิทธิพลทั้งความเชื่อและรูปแบบศิลปกรรมเมืองกำแพงเพชรจากอาณาจักรสุโขทัย
..
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร, นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร, (กรุงเทพฯ :บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2557),
ธงชัย สาโค. สังคโลกเตาทุเรียงเมืองสุโขทัย ข้อมูลใหม่จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2564.
สมิทธิ ศิริภัทร และมยุรี วีระประเสริฐ. ทับหลัง การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532.
อนันต์ ชูโชติ และดำรงฤทธิ์ สมบูรณ์สิริ. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานวัดฆ้องชัย ปีงบประมาณ 2525-2526. กำแพงเพชร: อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร, มป.ป.
มกรสังคโลกที่พบจากการดำเนินการทางโบราณคดีที่วัดตะแบกคู่ เมืองกำแพงเพชร
..
จากการดำเนินการทางโบราณคดี ณ วัดตะแบกคู่ โดยอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ในปีพุทธศักราช 2558 นั้น ได้พบหลักฐานเป็นชิ้นส่วนประติมากรรมมกรสังคโลก สภาพค่อนข้างสมบูรณ์จำนวน 2 ชิ้น ลักษณะเขียนลวดลายด้วยสีน้ำตาลเข้มบนพื้นสีขาวนวล แจกแจงขนาดดังนี้
.
ชิ้นที่ 1 มีขนาดส่วนฐานกว้าง 16 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร และสูง 53 เซนติเมตร
.
ชิ้นที่ 2 มีขนาดส่วนฐานกว้าง 18 เซนติเมตร ยาว 23 เซนติเมตร และสูง 78 เซนติเมตร
..
มกร เป็นคำในภาษาสันสกฤต อ่านว่า มะ-กะ-ระ หรือ มะ-กอน เป็นสัตว์ในเทพนิยายที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อตั้งแต่สมัยโบราณ ลักษณะคล้ายสัตว์น้ำ มีสองเท้า หรือสี่เท้า ส่วนปากคล้ายจระเข้ มีงวงเหมือนช้าง ส่วนหางคล้ายปลาซึ่งบางครั้งพบส่วนของปลายหางม้วนเป็นลายก้านขด สันนิษฐานว่าเป็นคติที่เกิดขึ้นในอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ 3-6 พบลักษณะเป็นสัตว์ที่มีส่วนหัวเป็นช้าง ส่วนลำตัวและหางเป็นปลา หรือเป็นมกรที่มีส่วนหัวเป็นรูปจระเข้ประดับที่โบราณสถานสาญจี และภารหุต ในเวลาต่อมามักพบการสร้างมกรมีลักษณะคล้ายส่วนของสัตว์หลากหลายชนิดมากขึ้นอันล้วนแล้วแต่เป็นสัตว์ที่มีความหมายในทางมงคลทั้งสิ้น อาทิเช่น สิงโต นาค มังกร แพะ และกวาง
.
รูปแบบและลวดลายของมกรสังคโลก ศิลปะสุโขทัย สันนิษฐานว่าเกิดจากการสร้างสรรค์โดยการนำลักษณะของรูปแบบศิลปะเขมรที่ปรากฏในเมืองโบราณสุโขทัย และอิทธิพลรูปแบบศิลปะจีนมาผสมผสานกัน โดยมกรจากแหล่งเตาเมืองสุโขทัย มักมีลักษณะหน้าตาคล้ายนาค บางครั้งส่วนหัวคล้ายสิงห์ มีหงอน งวง เขา และหู มักพบในลักษณะอ้าปาก มีเขี้ยว เห็นฟันชัดเจน และเครายาว บางชิ้นมีการคาบก้อนลักษณะกลมไว้ในปาก (คาบแก้ว) ลำตัวเป็นเกล็ด มีขาหน้าสองขา มีลวดลายเครื่องประดับส่วนคอ ส่วนน่องจนถึงกรงเล็บ ส่วนใหญ่จะทำเป็นลำตัวทอดยาวอยู่บนฐานปลายมน ด้านล่างเจาะเป็นรูรูปวงกลม ภายในลำตัวกลวง สันนิษฐานว่าใช้ประกอบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ได้แก่ เป็นส่วนประกอบเครื่องบนหลังคา และประดับบันไดทางเข้าโบราณสถาน
.
มกรมีเทคนิคการปั้นและการตกแต่งลวดลายเป็นรูปแบบเฉพาะ คือ ปั้นลำตัวแยกจากส่วนหัว ขึ้นรูปด้วยมือ แล้วตกแต่งด้วยการปั้นแปะเพิ่ม ขูดขีดทำให้เกิดร่องหรือลวดลาย ส่วนหัวค่อนข้างหนาและหนักกว่าส่วนลำตัว ลำตัวกลวงและมีรู เพื่อใช้เป็นส่วนยึดติดกับโครงสร้างอื่น ๆ ทาน้ำดินสีขาว และเขียนลวดลายต่าง ๆด้วยสีน้ำตาลหรือสีดำ เช่น ลายลูกประคำ ลายกระจัง ลายกระหนก เป็นต้น จากนั้นเคลือบด้วยน้ำเคลือบสีขาวนวล
..
จากการดำเนินการทางโบราณคดีที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรมักพบชิ้นส่วนมกรสังคโลกหลายแห่ง โดยพบประติมากรรมมกรสังคโลกลักษณะเกือบสมบูรณ์ ได้แก่ วัดอาวาสใหญ่ และวัดฆ้องชัย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
.
จากข้อมูลดังกล่าวสันนิษฐานว่ามกรที่พบจากการดำเนินการทางโบราณคดีที่วัดตะแบกคู่นี้ เป็นผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาเมืองสุโขทัย สำหรับใช้เป็นเครื่องประกอบโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม เช่น เป็นส่วนประกอบเครื่องบนหลังคา หรือประดับบันไดทางเข้าโบราณสถาน และน่าจะมีอายุร่วมสมัยกับมกรที่พบในโบราณสถานใกล้เคียงอันได้แก่ วัดอาวาสใหญ่ และวัดฆ้องชัย คืออายุประมาณราวพุทธศตวรรษที่ 20-21
.
การประดับพุทธศาสนสถานด้วยผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตาเมืองสุโขทัยในเมืองกำแพงเพชรเป็นการแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ทางหนึ่งถึงการเป็นเมืองร่วมสมัยและการรับอิทธิพลทั้งความเชื่อและรูปแบบศิลปกรรมเมืองกำแพงเพชรจากอาณาจักรสุโขทัย
..
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร, นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร, (กรุงเทพฯ :บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด, 2557),
ธงชัย สาโค. สังคโลกเตาทุเรียงเมืองสุโขทัย ข้อมูลใหม่จากหลักฐานทางโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2564.
สมิทธิ ศิริภัทร และมยุรี วีระประเสริฐ. ทับหลัง การศึกษาเปรียบเทียบทับหลังที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532.
อนันต์ ชูโชติ และดำรงฤทธิ์ สมบูรณ์สิริ. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานวัดฆ้องชัย ปีงบประมาณ 2525-2526. กำแพงเพชร: อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร, มป.ป.
(จำนวนผู้เข้าชม 237 ครั้ง)