กระเบื้องเชิงชาย ลายดอกบัว เมืองกำแพงเพชร
กระเบื้องเชิงชาย ลายดอกบัว เมืองกำแพงเพชร
...
กระเบื้องเชิงชายหรือที่เรียกว่ากระเบื้องหน้าอุด คือกระเบื้องมุงหลังคาแถวล่างสุดของหลังคาแต่ละตับทำหน้าที่อุดช่องว่างที่ชายคาเพื่อกันฝน และสัตว์เข้าไปตามแนวกระเบื้อง ส่วนใหญ่ทำเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือสามเหลี่ยมด้านเท่าพร้อมลวดลายต่างๆ เช่น ลายเทพนม ลายดอกบัว ประดับที่ชายคาสถาปัตยกรรมประเภทอาคารที่มีฐานานุศักดิ์อันสื่อถึงการแสดงฐานะของผู้ใช้อาคาร โดยสามารถแบ่งประเภทตามการใช้ประโยชน์เป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ เช่น อุโบสถ วิหาร และประเภทที่อยู่อาศัยซึ่งพบหลักฐานจากการขุดแต่งสิ่งก่อสร้างอันเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระมหาปราสาท พระที่นั่ง และตำหนักต่างๆ
...
ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ดอกบัว ใช้สื่อถึงแผ่นดินซึ่งเป็นที่เกิดของ ปทุม (ภาษาบาลี หมายถึง ต้นไม้ต้นแรก) และใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการอุบัติตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตัวอย่างความเกี่ยวข้องในทางพุทธศาสนา ดอกบัว ได้ถูกยกมาเทียบเคียงถึงความสามารถในการเข้าใจหลักคำสอนและธรรมะของบุคคลที่แตกต่างกัน รวมถึงการนำรูปดอกบัวมาทำเป็นภาพประกอบกับรูปเคารพของพระพุทธเจ้า เช่น ฐานที่ประทับของพระพุทธรูป เป็นส่วนประกอบของทิพยบุคคล และเป็นลวดลายประดับ อันสื่อถึงการกำเนิดอันบริสุทธิ์ (โลกแห่งธรรม) ความอุดมสมบูรณ์ และแสงสว่าง
...
จากการศึกษากระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยาประเภทลายดอกบัว ของ นายประทีป เพ็งตะโก สันนิษฐานว่า
...
ลวดลายประดับรูปดอกบัวปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นตลอดจนถึงอยุธยาตอนปลาย ลักษณะสำคัญคือรูปดอกบัวที่มีก้านมารองรับมีลักษณะธรรมชาติซึ่งพบในช่วงเวลาสั้นๆ และในระยะเวลาเดียวกันนั้นก็ทำเป็นรูปดอกบัวบานที่ไม่มีก้านมารองรับอันเป็นลักษณะที่นิยมในเวลาต่อมา วิวัฒนาการของกลีบบัวแรกเริ่มมีลักษณะเรียวยาวใกล้เคียงธรรมชาติ จากนั้นคลี่คลายเป็นกลีบดอกมีขอบหยัก คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากลายประเภทพันธุ์พฤกษาช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒) ในเวลาต่อมากลีบบัวปรับเปลี่ยนเป็นลายกระหนก (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒) จนถึงระยะสุดท้ายที่มีลายใบไม้สามแฉกเข้ามาแทนที่เค้าโครงเดิม
...
การกำหนดอายุโดยวิธีการเปรียบเทียบ (Relative Dating) พบว่าลวดลายในกระเบื้องเชิงชายที่พบจากการขุดแต่งวัดพระแก้ว และวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชรนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับกระเบื้องเชิงชายที่พบในโบราณสถานของเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยอ้างอิงภาพเปรียบเทียบลายกระเบื้องเชิงชายจากการศึกษาของ นายประทีป เพ็งตะโก ดังนี้
...
กระเบื้องเชิงชายลายดอกบัวที่พบจากเมืองกำแพงเพชร จำนวน ๒ รูปแบบ ได้แก่
๑. กระเบื้องเชิงชายลายดอกบัว (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – พุทธศตวรรษที่ ๒๒) ลักษณะทรงสามเหลี่ยมมีหยักที่ขอบนอก ทำเส้นนูนล้อกับทรงกระเบื้องล้อมรอบลายดอกบัวจำนวนสองเส้น ไม่ทำก้านดอก กลีบดอกคลี่คลายไม่เป็นธรรมชาติ กลีบบัวเรียวยาว ขอบกลีบเริ่มทำเป็นหยัก อาจทำเพียงบางกลีบ หรือหลายกลีบ นอกจากนี้ยังพบลักษณะคล้ายใบไม้ ๓ แฉก หรือทรงพุ่มแหลมด้านบนของดอกบัว อันเริ่มแปรเปลี่ยนจนคล้ายกับดอกบัวดอกเล็กซ้อนอยู่ข้างบน จากการขุดแต่งวัดช้างรอบพบกระเบื้องเชิงชายลายดอกบัวลักษณะคล้ายกับที่พบจากการขุดแต่งบริเวณวัดสุวรรณาวาส วัดไชยวัฒนาราม วัดขุนแสน วัดพระยาแมน และตำหนักสวนกระต่าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๒. กระเบื้องเชิงชายลายดอกบัว (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒) ลักษณะทรงสามเหลี่ยมมีหยักที่ขอบนอก มีการทำเส้นล้อกับทรงกระเบื้องล้อมรอบลายดอกบัวจำนวนสองเส้น มีร่องรอยเม็ดปุ่มอยู่บนสันนูนระหว่างเส้นกรอบดังกล่าว ลักษณะโครงสร้างลายคล้ายมีดอกขนาดเล็กซ้อนอยู่ข้างบน กลีบบัวมีทั้งทำหยักที่ขอบคล้ายใบไม้ และมีพัฒนาการรูปแบบประดิษฐ์เป็นลายกนกทั้งหมด จากการขุดแต่งวัดพระแก้ว และวัดช้างรอบพบกระเบื้องเชิงชายลายดอกบัวลักษณะนี้คล้ายกับที่พบจากการขุดแต่งวัดสุวรรณาวาส วัดพลับพลาชัย และบริเวณตำหนักวัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
...
จากการกำหนดอายุลวดลายในกระเบื้องเชิงชายที่พบจากการขุดแต่งวัดพระแก้ว และวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร เปรียบเทียบกับผลการศึกษาลักษณะลวดลายจากหลักฐานที่พบในวัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าหลักฐานที่พบมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒
________________________________________
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำศัพทานุกรมด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๐.
ประทีป เพ็งตะโก. กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๐.
ประทีป เพ็งตะโก. ประทีปวิทรรศน์ : รวมเรื่องโบราณคดีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๖๔.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๕๙.
...
กระเบื้องเชิงชายหรือที่เรียกว่ากระเบื้องหน้าอุด คือกระเบื้องมุงหลังคาแถวล่างสุดของหลังคาแต่ละตับทำหน้าที่อุดช่องว่างที่ชายคาเพื่อกันฝน และสัตว์เข้าไปตามแนวกระเบื้อง ส่วนใหญ่ทำเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือสามเหลี่ยมด้านเท่าพร้อมลวดลายต่างๆ เช่น ลายเทพนม ลายดอกบัว ประดับที่ชายคาสถาปัตยกรรมประเภทอาคารที่มีฐานานุศักดิ์อันสื่อถึงการแสดงฐานะของผู้ใช้อาคาร โดยสามารถแบ่งประเภทตามการใช้ประโยชน์เป็น ๒ ประเภท คือ ประเภทศาสนสถานเนื่องในศาสนาพุทธ เช่น อุโบสถ วิหาร และประเภทที่อยู่อาศัยซึ่งพบหลักฐานจากการขุดแต่งสิ่งก่อสร้างอันเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระมหาปราสาท พระที่นั่ง และตำหนักต่างๆ
...
ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ดอกบัว ใช้สื่อถึงแผ่นดินซึ่งเป็นที่เกิดของ ปทุม (ภาษาบาลี หมายถึง ต้นไม้ต้นแรก) และใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการอุบัติตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตัวอย่างความเกี่ยวข้องในทางพุทธศาสนา ดอกบัว ได้ถูกยกมาเทียบเคียงถึงความสามารถในการเข้าใจหลักคำสอนและธรรมะของบุคคลที่แตกต่างกัน รวมถึงการนำรูปดอกบัวมาทำเป็นภาพประกอบกับรูปเคารพของพระพุทธเจ้า เช่น ฐานที่ประทับของพระพุทธรูป เป็นส่วนประกอบของทิพยบุคคล และเป็นลวดลายประดับ อันสื่อถึงการกำเนิดอันบริสุทธิ์ (โลกแห่งธรรม) ความอุดมสมบูรณ์ และแสงสว่าง
...
จากการศึกษากระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยาประเภทลายดอกบัว ของ นายประทีป เพ็งตะโก สันนิษฐานว่า
...
ลวดลายประดับรูปดอกบัวปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นตลอดจนถึงอยุธยาตอนปลาย ลักษณะสำคัญคือรูปดอกบัวที่มีก้านมารองรับมีลักษณะธรรมชาติซึ่งพบในช่วงเวลาสั้นๆ และในระยะเวลาเดียวกันนั้นก็ทำเป็นรูปดอกบัวบานที่ไม่มีก้านมารองรับอันเป็นลักษณะที่นิยมในเวลาต่อมา วิวัฒนาการของกลีบบัวแรกเริ่มมีลักษณะเรียวยาวใกล้เคียงธรรมชาติ จากนั้นคลี่คลายเป็นกลีบดอกมีขอบหยัก คาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากลายประเภทพันธุ์พฤกษาช่วงสมัยอยุธยาตอนกลาง (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒) ในเวลาต่อมากลีบบัวปรับเปลี่ยนเป็นลายกระหนก (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒) จนถึงระยะสุดท้ายที่มีลายใบไม้สามแฉกเข้ามาแทนที่เค้าโครงเดิม
...
การกำหนดอายุโดยวิธีการเปรียบเทียบ (Relative Dating) พบว่าลวดลายในกระเบื้องเชิงชายที่พบจากการขุดแต่งวัดพระแก้ว และวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชรนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับกระเบื้องเชิงชายที่พบในโบราณสถานของเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยอ้างอิงภาพเปรียบเทียบลายกระเบื้องเชิงชายจากการศึกษาของ นายประทีป เพ็งตะโก ดังนี้
...
กระเบื้องเชิงชายลายดอกบัวที่พบจากเมืองกำแพงเพชร จำนวน ๒ รูปแบบ ได้แก่
๑. กระเบื้องเชิงชายลายดอกบัว (ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – พุทธศตวรรษที่ ๒๒) ลักษณะทรงสามเหลี่ยมมีหยักที่ขอบนอก ทำเส้นนูนล้อกับทรงกระเบื้องล้อมรอบลายดอกบัวจำนวนสองเส้น ไม่ทำก้านดอก กลีบดอกคลี่คลายไม่เป็นธรรมชาติ กลีบบัวเรียวยาว ขอบกลีบเริ่มทำเป็นหยัก อาจทำเพียงบางกลีบ หรือหลายกลีบ นอกจากนี้ยังพบลักษณะคล้ายใบไม้ ๓ แฉก หรือทรงพุ่มแหลมด้านบนของดอกบัว อันเริ่มแปรเปลี่ยนจนคล้ายกับดอกบัวดอกเล็กซ้อนอยู่ข้างบน จากการขุดแต่งวัดช้างรอบพบกระเบื้องเชิงชายลายดอกบัวลักษณะคล้ายกับที่พบจากการขุดแต่งบริเวณวัดสุวรรณาวาส วัดไชยวัฒนาราม วัดขุนแสน วัดพระยาแมน และตำหนักสวนกระต่าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
๒. กระเบื้องเชิงชายลายดอกบัว (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒) ลักษณะทรงสามเหลี่ยมมีหยักที่ขอบนอก มีการทำเส้นล้อกับทรงกระเบื้องล้อมรอบลายดอกบัวจำนวนสองเส้น มีร่องรอยเม็ดปุ่มอยู่บนสันนูนระหว่างเส้นกรอบดังกล่าว ลักษณะโครงสร้างลายคล้ายมีดอกขนาดเล็กซ้อนอยู่ข้างบน กลีบบัวมีทั้งทำหยักที่ขอบคล้ายใบไม้ และมีพัฒนาการรูปแบบประดิษฐ์เป็นลายกนกทั้งหมด จากการขุดแต่งวัดพระแก้ว และวัดช้างรอบพบกระเบื้องเชิงชายลายดอกบัวลักษณะนี้คล้ายกับที่พบจากการขุดแต่งวัดสุวรรณาวาส วัดพลับพลาชัย และบริเวณตำหนักวัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
...
จากการกำหนดอายุลวดลายในกระเบื้องเชิงชายที่พบจากการขุดแต่งวัดพระแก้ว และวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชร เปรียบเทียบกับผลการศึกษาลักษณะลวดลายจากหลักฐานที่พบในวัด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สอดคล้องไปในทางเดียวกันว่าหลักฐานที่พบมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒
________________________________________
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำศัพทานุกรมด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๐.
ประทีป เพ็งตะโก. กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๐.
ประทีป เพ็งตะโก. ประทีปวิทรรศน์ : รวมเรื่องโบราณคดีอยุธยา. กรุงเทพฯ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๖๔.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๕๙.
(จำนวนผู้เข้าชม 1538 ครั้ง)