กระเบื้องเชิงชาย ลายเทพนม เมืองกำแพงเพชร
กระเบื้องเชิงชาย ลายเทพนม เมืองกำแพงเพชร
..
กระเบื้องเชิงชายหรือที่เรียกว่ากระเบื้องหน้าอุด คือกระเบื้องมุงหลังคาแถวล่างสุดของหลังคาแต่ละตับ ส่วนใหญ่ทำเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือสามเหลี่ยมด้านเท่า ทำหน้าที่กันฝน และสัตว์เข้าไปตามแนวกระเบื้อง
..
เทพนม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔ หมายถึง ชื่อภาพเทวดาครึ่งตัวประนมมือ ซึ่งลายเทพนมบนกระเบื้องเชิงชายนั้นมักพบในลักษณะโครงสร้างรูปสามเหลี่ยม หันพระพักตร์ตรง ประนมพระหัตถ์เสมอพระอุระ นอกจากนี้ยังพบลายเทพนมในงานศิลปกรรมอื่น เช่น
..
งานจิตรกรรม ทำลายเทพนมในพุ่มข้าวบิณฑ์บริเวณหน้าต่างอุโบสถ วัดดวงแข กรุงเทพฯ
งานประดับสถาปัตยกรรม พบบริเวณหน้าบัน บันแถลง ประตู หน้าต่างของโบราณสถาน เช่น ลายปูนปั้นรูปเทพนมประดับปรางค์วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก
เสมาหินชนวนสลักลายพันธุ์พฤกษาและเทพนม พบที่วัดพระนอน จังหวัดกำแพงเพชร
ลายเทพนมบนเครื่องถ้วยเบญจรงค์
..
การนำกระเบื้องเชิงชายลายเทพนมมาประดับหลังคาเหนือที่ประดิษฐานรูปพระพุทธเจ้านั้น สันนิษฐานว่าเป็นการแสดงการสักการะพระพุทธเจ้าของเหล่าเทพ หรือเป็นการสื่อถึงเทพประทับในวิมาน โดยแผ่นกระเบื้องเชิงชายเปรียบเสมือนซุ้มวิมานขององค์เทพ หรืออาจเป็นความหมายทางบุคลาธิษฐานในการเปรียบเทียบมนุษย์กับบัวสี่เหล่าของพระพุทธองค์ อันเป็นการแทนภาพของผู้ที่บรรลุโพธิญาณขั้นต้นที่หลุดพ้นจากโคลนตมใต้พื้นน้ำ
..
จากการศึกษากระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยาประเภทลายเทพนม ของ นายประทีป เพ็งตะโก สันนิษฐานว่า กระเบื้องเชิงชายลายเทพนมนั้นปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นตลอดจนถึงอยุธยาตอนปลาย ลักษณะสำคัญคือ เทพนมอยู่เหนือดอกบัวในลักษณะผุด หรือถือกำเนิดจากดอกบัว ในระยะแรกสันนิษฐานว่ามีการทำรูปดอกบัวใต้รูปเทพนมมีก้านมารองรับ จากการพบลวดลายปูนปั้นลักษณะคล้ายคลึงกันประดับปรางค์วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก ส่วนรูปดอกบัวรองรับรูปเทพนมลักษณะแบบไม่มีก้านนั้น เริ่มจากดอกตูม แล้วคลี่คลายมาเป็นดอกบาน รวมถึงมงกุฎแบบมีปุ่มแหลมเหนือกรอบกระบังหน้านิยมทำร่วมกันในสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนกลีบบัวที่กลายเป็นลายพันธุ์พฤกษาอยู่ในราวสมัยอยุธยาตอนกลางและปรับเปลี่ยนเป็นลายกระหนกในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ โดยลายกระหนกใต้เทพนมนั้นมักทำเป็นกระหนกสามตัวสะบัดพลิ้ว หรือทำลายอย่างอื่นแทนที่รูปดอกบัว ส่วนลักษณะมงกุฎแบบทรงเครื่องใหญ่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓
..
การกำหนดอายุโดยวิธีการเปรียบเทียบ (Relative Dating) สันนิษฐานว่าลวดลายในกระเบื้องเชิงชายที่พบจากการขุดแต่งวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชรนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับกระเบื้องเชิงชายที่พบในโบราณสถานของเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยอ้างอิงภาพเปรียบเทียบลายกระเบื้องเชิงชายจากการศึกษาของ นายประทีป เพ็งตะโก ได้แก่
..
กระเบื้องเชิงชายลายเทพนม (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒) ลักษณะทรงสามเหลี่ยมมีหยักที่ขอบนอก ปรากฏรูปเทพนมอยู่เหนือดอกบัว ทำเส้นนูนล้อกับทรงกระเบื้องล้อมรอบเทพนมจำนวนสองเส้น มงกุฎมีการซ้อนชั้นอย่างเรียบ ปลายแหลมสูง สวมกระบังหน้า ดอกบัวรองรับเทพนมไม่มีก้าน กลีบดอกบัวมีลักษณะเรียว และเริ่มมีลักษณะเปลี่ยนเป็นลายกนกบริเวณส่วนปลายกลีบ จากการขุดแต่งวัดช้างรอบ พบกระเบื้องเชิงชายลายเทพนมลักษณะคล้ายกับที่พบจากการขุดแต่งวัดธรรมมิกราช วัดพลับพลาชัย และวัดสุวรรณาวาส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
..
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำศัพทานุกรมด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๐.
ประทีป เพ็งตะโก. กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๐.
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และคณะ. ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : บริษัท โอสถสภาจำกัด, ๒๕๓๙.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๕๙.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๔.
..
กระเบื้องเชิงชายหรือที่เรียกว่ากระเบื้องหน้าอุด คือกระเบื้องมุงหลังคาแถวล่างสุดของหลังคาแต่ละตับ ส่วนใหญ่ทำเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือสามเหลี่ยมด้านเท่า ทำหน้าที่กันฝน และสัตว์เข้าไปตามแนวกระเบื้อง
..
เทพนม ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔ หมายถึง ชื่อภาพเทวดาครึ่งตัวประนมมือ ซึ่งลายเทพนมบนกระเบื้องเชิงชายนั้นมักพบในลักษณะโครงสร้างรูปสามเหลี่ยม หันพระพักตร์ตรง ประนมพระหัตถ์เสมอพระอุระ นอกจากนี้ยังพบลายเทพนมในงานศิลปกรรมอื่น เช่น
..
งานจิตรกรรม ทำลายเทพนมในพุ่มข้าวบิณฑ์บริเวณหน้าต่างอุโบสถ วัดดวงแข กรุงเทพฯ
งานประดับสถาปัตยกรรม พบบริเวณหน้าบัน บันแถลง ประตู หน้าต่างของโบราณสถาน เช่น ลายปูนปั้นรูปเทพนมประดับปรางค์วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก
เสมาหินชนวนสลักลายพันธุ์พฤกษาและเทพนม พบที่วัดพระนอน จังหวัดกำแพงเพชร
ลายเทพนมบนเครื่องถ้วยเบญจรงค์
..
การนำกระเบื้องเชิงชายลายเทพนมมาประดับหลังคาเหนือที่ประดิษฐานรูปพระพุทธเจ้านั้น สันนิษฐานว่าเป็นการแสดงการสักการะพระพุทธเจ้าของเหล่าเทพ หรือเป็นการสื่อถึงเทพประทับในวิมาน โดยแผ่นกระเบื้องเชิงชายเปรียบเสมือนซุ้มวิมานขององค์เทพ หรืออาจเป็นความหมายทางบุคลาธิษฐานในการเปรียบเทียบมนุษย์กับบัวสี่เหล่าของพระพุทธองค์ อันเป็นการแทนภาพของผู้ที่บรรลุโพธิญาณขั้นต้นที่หลุดพ้นจากโคลนตมใต้พื้นน้ำ
..
จากการศึกษากระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยาประเภทลายเทพนม ของ นายประทีป เพ็งตะโก สันนิษฐานว่า กระเบื้องเชิงชายลายเทพนมนั้นปรากฏตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นตลอดจนถึงอยุธยาตอนปลาย ลักษณะสำคัญคือ เทพนมอยู่เหนือดอกบัวในลักษณะผุด หรือถือกำเนิดจากดอกบัว ในระยะแรกสันนิษฐานว่ามีการทำรูปดอกบัวใต้รูปเทพนมมีก้านมารองรับ จากการพบลวดลายปูนปั้นลักษณะคล้ายคลึงกันประดับปรางค์วัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก ส่วนรูปดอกบัวรองรับรูปเทพนมลักษณะแบบไม่มีก้านนั้น เริ่มจากดอกตูม แล้วคลี่คลายมาเป็นดอกบาน รวมถึงมงกุฎแบบมีปุ่มแหลมเหนือกรอบกระบังหน้านิยมทำร่วมกันในสมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนกลีบบัวที่กลายเป็นลายพันธุ์พฤกษาอยู่ในราวสมัยอยุธยาตอนกลางและปรับเปลี่ยนเป็นลายกระหนกในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ โดยลายกระหนกใต้เทพนมนั้นมักทำเป็นกระหนกสามตัวสะบัดพลิ้ว หรือทำลายอย่างอื่นแทนที่รูปดอกบัว ส่วนลักษณะมงกุฎแบบทรงเครื่องใหญ่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๓
..
การกำหนดอายุโดยวิธีการเปรียบเทียบ (Relative Dating) สันนิษฐานว่าลวดลายในกระเบื้องเชิงชายที่พบจากการขุดแต่งวัดช้างรอบ เมืองกำแพงเพชรนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับกระเบื้องเชิงชายที่พบในโบราณสถานของเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยอ้างอิงภาพเปรียบเทียบลายกระเบื้องเชิงชายจากการศึกษาของ นายประทีป เพ็งตะโก ได้แก่
..
กระเบื้องเชิงชายลายเทพนม (ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒) ลักษณะทรงสามเหลี่ยมมีหยักที่ขอบนอก ปรากฏรูปเทพนมอยู่เหนือดอกบัว ทำเส้นนูนล้อกับทรงกระเบื้องล้อมรอบเทพนมจำนวนสองเส้น มงกุฎมีการซ้อนชั้นอย่างเรียบ ปลายแหลมสูง สวมกระบังหน้า ดอกบัวรองรับเทพนมไม่มีก้าน กลีบดอกบัวมีลักษณะเรียว และเริ่มมีลักษณะเปลี่ยนเป็นลายกนกบริเวณส่วนปลายกลีบ จากการขุดแต่งวัดช้างรอบ พบกระเบื้องเชิงชายลายเทพนมลักษณะคล้ายกับที่พบจากการขุดแต่งวัดธรรมมิกราช วัดพลับพลาชัย และวัดสุวรรณาวาส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
..
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการดำเนินงานจัดทำศัพทานุกรมด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๐.
ประทีป เพ็งตะโก. กระเบื้องเชิงชายสมัยอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๐.
ปริวรรต ธรรมาปรีชากร และคณะ. ศิลปะเครื่องถ้วยในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : บริษัท โอสถสภาจำกัด, ๒๕๓๙.
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. นนทบุรี : เมืองโบราณ, ๒๕๕๙.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานพุทธศักราช ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ๒๕๕๔.
(จำนวนผู้เข้าชม 633 ครั้ง)