พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชรแห่งเจดีย์สิงห์ล้อม
องค์ความรู้ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔
ในหัวข้อเรื่อง พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชรแห่งเจดีย์สิงห์ล้อม
พระพุทธรูป คือ รูปที่ใช้แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นพระบรมศาสดาในพระพุทธศาสนา
โดยคติการสร้างพระพุทธรูปนั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์
และเป็นพุทธานุสติให้เหล่าศาสนิกชนได้ระลึกถึงพระพุทธองค์
ซึ่งมีองค์ประกอบคือ
๑. อิริยาบถ ที่แสดงท่าทางการประทับนั่ง,
ยืน, นอน (ไสยาสน์) และเดิน (ลีลา)
๒. มุทรา หรือปาง คือการแสดงถึงเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติ
ในส่วนของอิริยาบถที่แสดงท่าทางการประทับนั่งของพระพุทธรูป
สามารถแบ่งได้ ๓ รูปแบบ ได้แก่
๑. ขัดสมาธิราบ (วีราสนะ หรือสัตตวปรยังคะ)
คือ การประทับนั่งขัดสมาธิ ให้ขาขวาทับขาซ้าย
๒. ห้อยพระบาท (ปรลัมพปทาสนะ)
คือ การประทับนั่งห้อยพระบาทลงไปที่พื้น
๓. ขัดสมาธิเพชร (วัชรปรยังกะ หรือวัชราสนะ)
คือ การประทับนั่งขัดสมาธิ ให้ขาทั้ง ๒ ข้างไขว้กัน
“ขัดสมาธิเพชร”
ความหมายตามพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม อักษร ก-ฮ
ฉบับราชบัณฑิตสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๐
หมายถึง ท่าประทับของพระพุทธรูปแบบหนึ่ง
นั่งให้พระชงฆ์ (แข้ง) ไขว้กันอย่างมั่นคง
และหงายฝ่าพระบาทขึ้นทั้งสองข้าง บางทีเรียกว่าขัดสมาธิสองชั้น
หรือวัชรปรยังกะ (Vajraparyanka)
แสดงถึงความหนักแน่น มั่นคง ไม่เคลื่อนไหวต่อทุกสิ่ง
ที่เข้ามากระทบกับสมาธิ ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของท่าปฏิบัติ
นั่งโยคะอาสนะ (asana) เพื่อฝึกฝนจิตใจในการทำสมาธิ
พระพุทธรูปในประเทศไทยที่ปรากฏในอิริยาบถประทับนั่งแบบขัดสมาธิเพชร
ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปในศิลปะสมัยล้านนา
(ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐)
ที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบปาละ-เสนะ ของอินเดีย
ผ่านทางเมืองพุกามของเมียนมา มีลักษณะที่โดดเด่น
คือ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระชงฆ์ไขว้เห็นฝ่าพระบาทหงายทั้งสองข้าง
พระพักตร์มีลักษณะกลมและอมยิ้ม พระเกตุมาลาเป็นรูปดอกบัวตูม
ขมวดพระเกศาใหญ่ พระขนงโก่ง พระหนุเป็นปม พระอุระนูน
พระวรกายอวบ พระโอษฐ์เล็ก ส่วนของชายสังฆาฏิสั้นและอยู่เหนือพระถัน
ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ
เมืองกำแพงเพชรได้ปรากฏพบพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่ง
แบบขัดสมาธิเพชร ณ วัดพระแก้ว
เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตกำแพงเมืองกำแพงเพชร
ตั้งอยู่บริเวณกลางเมือง ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของวัดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
มีเจดีย์สิงห์ล้อมเป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม
หรือทรงระฆังขนาดใหญ่บนฐานสี่เหลี่ยม โดยรอบฐานมีประติมากรรม
ปูนปั้นรูปสิงห์รายรอบจำนวน ๓๒ ซุ้ม
สามารถศึกษาเปรียบเทียบทางศิลปะเทียบเคียงได้กับ
เจดีย์ประธานสิงห์ล้อม ที่วัดธรรมิกราชและวัดแม่นางปลื้ม
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานได้ว่าเจดีย์สิงห์ล้อม
มีอายุสมัยในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑
ถัดจากฐานสิงห์ล้อมขึ้นมา เป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น
จำนวน ๑๖ ซุ้ม คล้ายกับรูปแบบของเจดีย์ประธาน ที่วัดช้างล้อม
เมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เหนือซุ้มขึ้นไปเป็นชุดบัวถลาลดหลั่นกัน
สามชั้นรองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ที่มีซุ้มจระนำออกมาทั้ง ๔ ด้าน
ต่อด้วยส่วนของก้านฉัตร ปล้องไฉนและปลียอด
บริเวณซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจำนวน ๑๖ ซุ้ม นั้น
ที่ซุ้มด้านทิศใต้ได้ปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่ง
แบบขัดสมาธิเพชร จำนวน ๑ องค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานอิฐ
ส่วนของพระพุทธรูปคงเหลือเฉพาะพระวรกาย
ส่วนของพระเศียรและพระกรข้างขวาหักหาย
แสดงการห่มผ้าจีวรถึงข้อพระหัตถ์และข้อพระบาท
ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๗๗ เมตร สูง ๐.๖๐ เมตร
กำหนดอายุสมัยได้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙
พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร
ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙
โดยในวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙
เสด็จประพาสตัวเมืองกำแพงเพชรเก่า
ได้แก่ กำแพงเมือง ป้อมและประตูเมือง วัดพระแก้ว หลักเมือง และสระมน
รวมทั้งทรงได้พระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับพระพุทธรูปภายในซุ้ม
ของเจดีย์สิงห์ล้อม วัดพระแก้ว ไว้ดังนี้
“…พระเจดีย์กลมลอมฟาง อยู่หลังวิหารอีกหน่อยหนึ่ง
หย่อมนี้เห็นจะเป็นชั้นลังกา แต่พระเจดีย์นั้นทำงามมาก
ชั้นล่างเป็นซุ้มคูหารอบ มีสิงห์ยืนในคูหา ถัดขึ้นไปอีกชั้น ๑
เป็นคูหาไว้พระพุทธรูปขนาดเดียวกับพระโบโรบุโด
ซึ่งเชิญมาไว้ในวัดพระแก้ว แต่คะเนยังไม่ได้ว่าจะเป็นท่าต่าง ๆ ฤๅไม่
ถัดขึ้นไปจึงถึงองค์พระเจดีย์บัวคว่ำบัวหงายที่รับปากระฆัง
เป็นบัวหลังเบี้ยสลับ กลีบกันงามเข้าทีมาก บัลลังก์มีซุ้มยื่นออกมา ๔ ทิศ
ไว้พระ ๔ ปาง ไม่เห็นมีเสารับยอด ซึ่งกรมหลวงนริศสงสัยว่าจะเป็นทวย
ถัดขึ้นไปปล้องไฉนแต่ยอดด้วน ประมาณว่าจะสูง ราว ๑๕ วา…”
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร.
กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑.
กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. นครปฐม: บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์
(๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๘.
กรมศิลปากร. รายงานการบูรณะโบราณสถานวัดพระแก้ว
จังหวัดกำแพงเพชร . กำแพงเพชร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร,
๒๕๔๓.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรง
ราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖.
กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙.
พุทธรักษ์ ปราบนอก. (๒๕๕๙,กันยายน – ธันวาคม). “พุทธปรัชญา
ในพุทธปฏิมา”, มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ๓๓ (๓): ๒๔๑ – ๒๖๓.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการ และพลัง
ศรัทธา. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๖๐.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. นนทบุรี: โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๖.
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ:
อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘.
ในหัวข้อเรื่อง พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชรแห่งเจดีย์สิงห์ล้อม
พระพุทธรูป คือ รูปที่ใช้แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นพระบรมศาสดาในพระพุทธศาสนา
โดยคติการสร้างพระพุทธรูปนั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์
และเป็นพุทธานุสติให้เหล่าศาสนิกชนได้ระลึกถึงพระพุทธองค์
ซึ่งมีองค์ประกอบคือ
๑. อิริยาบถ ที่แสดงท่าทางการประทับนั่ง,
ยืน, นอน (ไสยาสน์) และเดิน (ลีลา)
๒. มุทรา หรือปาง คือการแสดงถึงเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติ
ในส่วนของอิริยาบถที่แสดงท่าทางการประทับนั่งของพระพุทธรูป
สามารถแบ่งได้ ๓ รูปแบบ ได้แก่
๑. ขัดสมาธิราบ (วีราสนะ หรือสัตตวปรยังคะ)
คือ การประทับนั่งขัดสมาธิ ให้ขาขวาทับขาซ้าย
๒. ห้อยพระบาท (ปรลัมพปทาสนะ)
คือ การประทับนั่งห้อยพระบาทลงไปที่พื้น
๓. ขัดสมาธิเพชร (วัชรปรยังกะ หรือวัชราสนะ)
คือ การประทับนั่งขัดสมาธิ ให้ขาทั้ง ๒ ข้างไขว้กัน
“ขัดสมาธิเพชร”
ความหมายตามพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม อักษร ก-ฮ
ฉบับราชบัณฑิตสถาน พุทธศักราช ๒๕๕๐
หมายถึง ท่าประทับของพระพุทธรูปแบบหนึ่ง
นั่งให้พระชงฆ์ (แข้ง) ไขว้กันอย่างมั่นคง
และหงายฝ่าพระบาทขึ้นทั้งสองข้าง บางทีเรียกว่าขัดสมาธิสองชั้น
หรือวัชรปรยังกะ (Vajraparyanka)
แสดงถึงความหนักแน่น มั่นคง ไม่เคลื่อนไหวต่อทุกสิ่ง
ที่เข้ามากระทบกับสมาธิ ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของท่าปฏิบัติ
นั่งโยคะอาสนะ (asana) เพื่อฝึกฝนจิตใจในการทำสมาธิ
พระพุทธรูปในประเทศไทยที่ปรากฏในอิริยาบถประทับนั่งแบบขัดสมาธิเพชร
ส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปในศิลปะสมัยล้านนา
(ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ – ๒๐)
ที่ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบปาละ-เสนะ ของอินเดีย
ผ่านทางเมืองพุกามของเมียนมา มีลักษณะที่โดดเด่น
คือ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระชงฆ์ไขว้เห็นฝ่าพระบาทหงายทั้งสองข้าง
พระพักตร์มีลักษณะกลมและอมยิ้ม พระเกตุมาลาเป็นรูปดอกบัวตูม
ขมวดพระเกศาใหญ่ พระขนงโก่ง พระหนุเป็นปม พระอุระนูน
พระวรกายอวบ พระโอษฐ์เล็ก ส่วนของชายสังฆาฏิสั้นและอยู่เหนือพระถัน
ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ
เมืองกำแพงเพชรได้ปรากฏพบพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่ง
แบบขัดสมาธิเพชร ณ วัดพระแก้ว
เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตกำแพงเมืองกำแพงเพชร
ตั้งอยู่บริเวณกลางเมือง ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
อาคารสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ของวัดใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
มีเจดีย์สิงห์ล้อมเป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม
หรือทรงระฆังขนาดใหญ่บนฐานสี่เหลี่ยม โดยรอบฐานมีประติมากรรม
ปูนปั้นรูปสิงห์รายรอบจำนวน ๓๒ ซุ้ม
สามารถศึกษาเปรียบเทียบทางศิลปะเทียบเคียงได้กับ
เจดีย์ประธานสิงห์ล้อม ที่วัดธรรมิกราชและวัดแม่นางปลื้ม
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานได้ว่าเจดีย์สิงห์ล้อม
มีอายุสมัยในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑
ถัดจากฐานสิงห์ล้อมขึ้นมา เป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น
จำนวน ๑๖ ซุ้ม คล้ายกับรูปแบบของเจดีย์ประธาน ที่วัดช้างล้อม
เมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เหนือซุ้มขึ้นไปเป็นชุดบัวถลาลดหลั่นกัน
สามชั้นรองรับองค์ระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ที่มีซุ้มจระนำออกมาทั้ง ๔ ด้าน
ต่อด้วยส่วนของก้านฉัตร ปล้องไฉนและปลียอด
บริเวณซุ้มที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจำนวน ๑๖ ซุ้ม นั้น
ที่ซุ้มด้านทิศใต้ได้ปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่ง
แบบขัดสมาธิเพชร จำนวน ๑ องค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานอิฐ
ส่วนของพระพุทธรูปคงเหลือเฉพาะพระวรกาย
ส่วนของพระเศียรและพระกรข้างขวาหักหาย
แสดงการห่มผ้าจีวรถึงข้อพระหัตถ์และข้อพระบาท
ขนาดหน้าตักกว้าง ๐.๗๗ เมตร สูง ๐.๖๐ เมตร
กำหนดอายุสมัยได้ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑
การเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒
ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙
พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร
ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙
โดยในวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙
เสด็จประพาสตัวเมืองกำแพงเพชรเก่า
ได้แก่ กำแพงเมือง ป้อมและประตูเมือง วัดพระแก้ว หลักเมือง และสระมน
รวมทั้งทรงได้พระราชนิพนธ์บรรยายเกี่ยวกับพระพุทธรูปภายในซุ้ม
ของเจดีย์สิงห์ล้อม วัดพระแก้ว ไว้ดังนี้
“…พระเจดีย์กลมลอมฟาง อยู่หลังวิหารอีกหน่อยหนึ่ง
หย่อมนี้เห็นจะเป็นชั้นลังกา แต่พระเจดีย์นั้นทำงามมาก
ชั้นล่างเป็นซุ้มคูหารอบ มีสิงห์ยืนในคูหา ถัดขึ้นไปอีกชั้น ๑
เป็นคูหาไว้พระพุทธรูปขนาดเดียวกับพระโบโรบุโด
ซึ่งเชิญมาไว้ในวัดพระแก้ว แต่คะเนยังไม่ได้ว่าจะเป็นท่าต่าง ๆ ฤๅไม่
ถัดขึ้นไปจึงถึงองค์พระเจดีย์บัวคว่ำบัวหงายที่รับปากระฆัง
เป็นบัวหลังเบี้ยสลับ กลีบกันงามเข้าทีมาก บัลลังก์มีซุ้มยื่นออกมา ๔ ทิศ
ไว้พระ ๔ ปาง ไม่เห็นมีเสารับยอด ซึ่งกรมหลวงนริศสงสัยว่าจะเป็นทวย
ถัดขึ้นไปปล้องไฉนแต่ยอดด้วน ประมาณว่าจะสูง ราว ๑๕ วา…”
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร.
กรุงเทพฯ: บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์จำกัด, ๒๕๖๑.
กรมศิลปากร. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ. นครปฐม: บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์
(๑๙๗๗) จำกัด, ๒๕๕๘.
กรมศิลปากร. รายงานการบูรณะโบราณสถานวัดพระแก้ว
จังหวัดกำแพงเพชร . กำแพงเพชร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด สามเพชร,
๒๕๔๓.
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาดำรง
ราชานุภาพ. เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒๖.
กรุงเทพฯ : ไทยร่มเกล้า, ๒๕๒๙.
พุทธรักษ์ ปราบนอก. (๒๕๕๙,กันยายน – ธันวาคม). “พุทธปรัชญา
ในพุทธปฏิมา”, มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ๓๓ (๓): ๒๔๑ – ๒๖๓.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ในประเทศไทย รูปแบบ พัฒนาการ และพลัง
ศรัทธา. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๖๐.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปกรรมโบราณในอาณาจักรสุโขทัย. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๖๑.
ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. นนทบุรี: โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, ๒๕๕๖.
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล. ศิลปะในประเทศไทย. กรุงเทพฯ:
อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘.
(จำนวนผู้เข้าชม 5639 ครั้ง)