เครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร
องค์ความรู้ เรื่อง เครื่องประดับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร
เครื่องประดับ หรือเครื่องตกแต่งกาย เป็นหลักฐานประเภทหนึ่งที่มักพบในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บ่งบอกถึงวิถีชีวิต ความสามารถทางด้านศิลปะ เทคโนโลยีการผลิต และการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ๆ ในระยะแรกเครื่องประดับทำขึ้นจากวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น หิน ดินเผา กระดูก เขาสัตว์ เปลือกหอย เป็นต้น ต่อมาเมื่อรู้จักการใช้โลหะจึงนิยมนำสำริด ซึ่งเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก มาผลิตเป็นเครื่องประดับ
เครื่องประดับที่พบในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มีหลากหลายประเภท เช่น เครื่องประดับศีรษะ กำไล แหวน ต่างหู ห่วงคอ ห่วงเอว ลูกปัด ฯลฯ นอกจากมีไว้ตกแต่งร่างกายเพื่อความสวยงามแล้วนั้น ยังเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสถานภาพของผู้สวมใส่ เครื่องประดับมักจะขุดพบในหลุมฝังศพซึ่งฝังร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานว่าเป็นการอุทิศสิ่งของให้กับผู้ตายตามความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย หรือความเชื่อเรื่องโลกหน้า รวมทั้งอาจใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ
แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดกำแพงเพชรที่พบโบราณวัตถุประเภทเครื่องประดับ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีเขากะล่อน อำเภอขาณุวรลักษบุรี แหล่งโบราณคดีบ้านหนองกอง อำเภอเมืองกำแพงเพชร แหล่งโบราณคดีบ้านคอปล้อง และบ้านชายเคือง อำเภอบึงสามัคคี เครื่องประดับที่พบ ได้แก่ กำไล ต่างหู และลูกปัด
กำไล เป็นเครื่องประดับสำหรับสวมข้อมือหรือข้อเท้า ที่พบในจังหวัดกำแพงเพชรจะมีลักษณะเป็นเส้นกลม ไม่มีลวดลาย ทำจากสำริดและหิน
ต่างหู หรือตุ้มหู เป็นเครื่องประดับหู ใช้ตกแต่งติ่งหู ในจังหวัดกำแพงเพชรพบต่างหูที่ทำจากดินเผา มีลักษณะเป็นแผ่นกลม และที่ทำจากหิน มีลักษณะเป็นรูปวงกลม ตรงกลางผ่าครึ่ง เพื่อเกี่ยวห้อยกับติ่งหู
ลูกปัด นิยมทำเป็นเครื่องประดับในหลายรูปแบบ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ สร้อยข้อเท้า เข็มขัด เครื่องประดับศีรษะ ในจังหวัดกำแพงเพชรพบลูกปัดแก้วและหินในรูปทรงต่าง ๆ ได้แก่ ทรงกลม ทรงกระบอก สี่เหลี่ยม โดยรูปปัดจะต้องเจาะรูเพื่อร้อยด้ายหรือเชือกเป็นเส้น ลูกปัดที่สำคัญ ได้แก่ ลูกปัดที่ทำจากหินกึ่งอัญมณี (หินในตระกูลควอตซ์ชนิดต่าง ๆ) เช่น ลูกปัดหินคาร์เนเลียน หินอาเกต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือการติดต่อระหว่างชุมชนได้เป็นอย่างดี
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๕๐.
- กุลธิดา พิพัฒน์จรัสสกุล. “การศึกษาการฝังศพที่พบเครื่องประดับร่วมกับโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๓.
- อัญชลี สินธุสอน และพรพรรณ หงสไกร. คนก่อนประวัติศาสตร์ บนดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์, ๒๕๕๒.
เครื่องประดับ หรือเครื่องตกแต่งกาย เป็นหลักฐานประเภทหนึ่งที่มักพบในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บ่งบอกถึงวิถีชีวิต ความสามารถทางด้านศิลปะ เทคโนโลยีการผลิต และการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่น ๆ ในระยะแรกเครื่องประดับทำขึ้นจากวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ เช่น หิน ดินเผา กระดูก เขาสัตว์ เปลือกหอย เป็นต้น ต่อมาเมื่อรู้จักการใช้โลหะจึงนิยมนำสำริด ซึ่งเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก มาผลิตเป็นเครื่องประดับ
เครื่องประดับที่พบในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มีหลากหลายประเภท เช่น เครื่องประดับศีรษะ กำไล แหวน ต่างหู ห่วงคอ ห่วงเอว ลูกปัด ฯลฯ นอกจากมีไว้ตกแต่งร่างกายเพื่อความสวยงามแล้วนั้น ยังเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงสถานภาพของผู้สวมใส่ เครื่องประดับมักจะขุดพบในหลุมฝังศพซึ่งฝังร่วมกับโครงกระดูกมนุษย์ สันนิษฐานว่าเป็นการอุทิศสิ่งของให้กับผู้ตายตามความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย หรือความเชื่อเรื่องโลกหน้า รวมทั้งอาจใช้ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ
แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดกำแพงเพชรที่พบโบราณวัตถุประเภทเครื่องประดับ ได้แก่ แหล่งโบราณคดีเขากะล่อน อำเภอขาณุวรลักษบุรี แหล่งโบราณคดีบ้านหนองกอง อำเภอเมืองกำแพงเพชร แหล่งโบราณคดีบ้านคอปล้อง และบ้านชายเคือง อำเภอบึงสามัคคี เครื่องประดับที่พบ ได้แก่ กำไล ต่างหู และลูกปัด
กำไล เป็นเครื่องประดับสำหรับสวมข้อมือหรือข้อเท้า ที่พบในจังหวัดกำแพงเพชรจะมีลักษณะเป็นเส้นกลม ไม่มีลวดลาย ทำจากสำริดและหิน
ต่างหู หรือตุ้มหู เป็นเครื่องประดับหู ใช้ตกแต่งติ่งหู ในจังหวัดกำแพงเพชรพบต่างหูที่ทำจากดินเผา มีลักษณะเป็นแผ่นกลม และที่ทำจากหิน มีลักษณะเป็นรูปวงกลม ตรงกลางผ่าครึ่ง เพื่อเกี่ยวห้อยกับติ่งหู
ลูกปัด นิยมทำเป็นเครื่องประดับในหลายรูปแบบ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ สร้อยข้อเท้า เข็มขัด เครื่องประดับศีรษะ ในจังหวัดกำแพงเพชรพบลูกปัดแก้วและหินในรูปทรงต่าง ๆ ได้แก่ ทรงกลม ทรงกระบอก สี่เหลี่ยม โดยรูปปัดจะต้องเจาะรูเพื่อร้อยด้ายหรือเชือกเป็นเส้น ลูกปัดที่สำคัญ ได้แก่ ลูกปัดที่ทำจากหินกึ่งอัญมณี (หินในตระกูลควอตซ์ชนิดต่าง ๆ) เช่น ลูกปัดหินคาร์เนเลียน หินอาเกต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือการติดต่อระหว่างชุมชนได้เป็นอย่างดี
บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. ศัพทานุกรมโบราณคดี. กรุงเทพฯ : รุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗), ๒๕๕๐.
- กุลธิดา พิพัฒน์จรัสสกุล. “การศึกษาการฝังศพที่พบเครื่องประดับร่วมกับโครงกระดูกจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.” สารนิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๕๓.
- อัญชลี สินธุสอน และพรพรรณ หงสไกร. คนก่อนประวัติศาสตร์ บนดินแดนไทย. กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์, ๒๕๕๒.
(จำนวนผู้เข้าชม 4855 ครั้ง)