...

กุฏิพระพุทธเจ้าที่เมืองกำแพงเพชร
องค์ความรู้ : อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เรื่อง กุฏิพระพุทธเจ้าที่เมืองกำแพงเพชร
มณฑป เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบหนึ่งที่พบในโบราณสถานวัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาในหัวเมืองเหนือ โดยเฉพาะที่เมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย และส่งอิทธิพลมายังเมืองกำแพงเพชร แม้จะพบจำนวนไม่มากเท่ากับทั้งสองเมืองข้างต้น แต่ยังคงปรากฏว่ามีการส่งผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมในช่วงเวลาดังกล่าว รูปแบบของมณฑปที่พบโดยมากมีแผนผังเป็นสี่เหลี่ยมมีลักษณะทึบตันตั้งแต่ผนังไปถึงหลังคา ที่ก่อสร้างด้วยวัสดุก่อ (อิฐ หิน หรือศิลาแลง) โดยหลังคาจะก่อวัสดุให้เหลื่อมเป็นซุ้ม (Corbel Arch) และภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปรากฏรูปแบบมณฑปอยู่สองประเภท คือ มณฑปท้ายวิหารมีลักษณะการเชื่อมต่อหรือก่อสร้างมณฑปไปชนกับวิหารที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของมณฑปและมณฑปมณฑปที่สร้างแยกออกมาไม่เชื่อมต่อกับวิหาร โดยพบเฉพาะห้องประดิษฐานพระพุทธรูปหรือก่อสร้างออกมาเป็นเอกเทศ
อาคารที่ไว้สำหรับประดิษฐานรูปเคารพพบมาก่อนแล้วในศิลปะอินเดียมีแผนผังประกอบด้วยส่วนประดิษฐานรูปเคารพเรียกว่า “ครรภคฤหะ” และส่วนที่สร้างยื่นออกมาด้านหน้าเรียกว่า “มณฑป” ทั้งในศิลปะอินเดียใต้ (พุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔)และในศิลปะอินเดียเหนือ (พุทธศตวรรษที่ ๑๔ – ๑๗) ได้ส่งอิทธิพลไปยังศิลปะลังกาเรียกอาคารสำหรับประดิษฐานรูปเคารพว่า“ปฏิมาฆระ”รวมทั้งส่งต่อรูปแบบไปให้ปราสาทในศิลปะเขมร และศิลปะพุกามคือ “เจติยวิหาร” รูปแบบและแนวคิดของอาคารดังกล่าวทั้งในศิลปะลังกา พุกาม และเขมรที่ได้รับมาจากศิลปะอินเดียนั้นต่างส่งแรงบันดาลใจให้กับช่างในสมัยสุโขทัยนำไปสร้างสรรค์รูปแบบอาคารที่ประดิษฐานรูปเคารพดังกล่าวให้มีเอกลักษณ์เฉพาะในเวลาต่อมา
คติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างสถาปัตยกรรมหรือมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูป น่าจะมีแนวคิดมาจากการสร้าง “คันธกุฎี” หรือกุฏิส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้า ปรากฏข้อความในพระอรรถกถาแห่งกสิสูตร อุปาสกวรรคที่ ๒ กล่าวว่าในแต่ละวันพระพุทธเจ้าปฏิบัติพุทธกิจ ตามช่วงเวลาและในบางเวลาจะเสด็จประทับภายในคันธกุฎีเพื่อพักผ่อนพระวรกาย เช่น “...ทรงให้เวลาล่วงไป  ณ เสนาสนะที่สงัดจนถึงเวลาเสด็จภิกขาจาร... แล้วเสด็จโปรดสัตว์ เสวยพระกระยาหาร ทรงรอจนภิกษุทั้งหลายฉันเสร็จ จึงเสด็จเข้าพระคันธกุฎี...”
สำหรับที่เมืองกำแพงเพชรพบมณฑปสองรูปแบบ คือ มณฑปท้ายวิหาร และมณฑปที่แยกออกมาเป็นเอกเทศไม่เชื่อมต่อกับส่วนของโบราณสถานอื่น 
๑. มณฑปท้ายวิหาร พบจำนวน ๒ แห่ง คือ โบราณสถานวัดพระนอน อยู่ด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธาน เป็นมณฑปในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเสาก่อด้วยศิลาแลงเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักระหว่างเสาก่อศิลาแลงเป็นผนังของมณฑป ภายในมณฑปมีฐานชุกชีกว้างเกือบเต็มพื้นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งซึ่งเหลือเพียงโกลนศิลาแลง ด้านทิศตะวันออกของมณฑปเชื่อมต่อกับวิหาร 
มณฑปท้ายวิหารอีกแห่งที่พบในเมืองกำแพงเพชร คือ โบราณสถานวัดป่ามืดใน พบมณฑปท้ายวิหารตั้งอยู่กึ่งกลางของวัด มณฑปอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใช้โครงสร้างผนังรับน้ำหนักและสันนิษฐานว่ามีการก่อศิลาแลงเหลื่อมเป็นซุ้ม แบบที่นิยมที่เมืองศรีสัชนาลัยเช่นที่โบราณสถานวัดสวนแก้วอุทยานน้อยและวัดกุฎีราย ภายในมณฑปวัดป่ามืดในพบโกลนพระพุทธรูปนั่งประดิษฐานอยู่เต็มพื้นที่ของมณฑป ด้านหน้าของมณฑปมีการลักษณะของการก่อศิลาแลงให้เป็นซุ้มด้านหน้าเพื่อเชื่อมต่อกับวิหาร 
๒. มณฑปที่สร้างแยกออกมาไม่เชื่อมต่อกับวิหาร ได้แก่ มณฑปที่วัดพระสี่อิริยาบถ เป็นมณฑปแบบจตุรมุขหรือมีมุขยื่นออกมาจากมณฑปทั้งสี่ด้าน ในแต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปทั้งสี่อิริยาบถ ได้แก่ เดิน นั่ง ยืน นอน มณฑปรูปแบบดังกล่าวใช้แกนกลางที่มีลักษณะทึบตันเป็นโครงสร้างรับน้ำหนัก ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบในเจติยวิหารแบบแกนกลางรับน้ำหนักศิลปะพุกาม 
นอกจากนี้ที่เมืองกำแพงเพชรยังพบมณฑปพระอัฏฐารส (พระพุทธรูปยืนสูง ๑๘ ศอก) ที่โบราณสถานวัดพระแก้วบริเวณด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ช้างเผือก แบบเดียวกับที่มณฑปพระอัฏฐารสวัดเจ้าจันทร์ เมืองศรีสัชนาลัย และวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย
รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบมณฑปเป็นหนึ่งในศิลปกรรมที่แสดงให้เห็นการรับอิทธิพลผ่านการรับคติความเชื่อทางพุทธศาสนา แม้จะพบว่ารูปแบบสถาปัตยกรรม ขนาด และการเรียกชื่อจะแตกต่างออกไปในแต่ละพื้นที่  แต่พบว่าทั้งปฏิมาฆระ เจติยวิหาร และมณฑปมีความเหมือนด้านการแบ่งพื้นที่ของสถาปัตยกรรมออกเป็นสองส่วนคือ พื้นที่สำหรับพระพุทธรูปและพื้นที่สำหรับประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน และสอดคล้องกับความเชื่อว่าพื้นที่สำหรับพระพุทธเจ้าเป็นกุฏิส่วนพระองค์หรือคันธกุฎี
เอกสารอ้างอิง
เกรียงไกร เกิดศิริ. พุกาม : การก่อรูปของสถาปัตยกรรมจากก้อนอิฐแห่งความศรัทธา. กรุงเทพฯ : อุษาคเนย์, ๒๕๕๑.
เชษฐ์ติงสัญชลี. ประวัติศาสตร์ศิลปะอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: รูปแบบ พัฒนาการ ความหมาย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๘.
โชติมา จตุรวงค์.  วิหารพระพุทธรูป สถาปัตยกรรมเปรียบเทียบไทย เมียนมา และศรีลังกา.  กรุงเทพฯ : อี.ที. พับลิชชิ่ง, ๒๕๖๓.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์.  “จุ๊จุ๊ อย่าดัง พระกำลังปลีกวิเวก”. หาพระ หาเจ้า :รวมบทความทางวิชาการเกี่ยวกับความหมายทางสังคมและวัฒนธรรมของโบราณวัตถุและโบราณสถาน. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๕. หน้า ๘๗-๙๘.
ธาดา สุทธิธรรม.สถาปัตยกรรมสุโขทัย = Sukhothai architecture.กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๓๖.































(จำนวนผู้เข้าชม 2865 ครั้ง)


Messenger