วัจจกุฎี
วัจจกุฎี : สุขอนามัยของสงฆ์แห่งเมืองกำแพงเพชร
พื้นที่ในเขตศาสนสถานทั่วไป สามารถแบ่งออกได้ ๒ พื้นที่ ได้แก่
๑. เขตพุทธาวาส เป็นพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ประทับของพระพุทธเจ้า ปรากฏสถาปัตยกรรมสำคัญ เช่น เจดีย์ วิหาร อุโบสถ
๒. เขตสังฆาวาส เป็นพื้นที่ที่กำหนดไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมทางศาสนาโดยตรง ซึ่งมีอาคารที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมและวัตรปฏิบัติของสงฆ์ เช่น กุฏิ ศาลาการเปรียญ วัจจกุฎี ห้องสรงน้ำ เป็นต้น
“วัจจกุฎี” เป็นอาคารสำหรับขับถ่ายหรือห้องส้วมสำหรับพระสงฆ์ในสมัยโบราณ โดยปรากฏในพระวินัยปิฎก จุลวรรค มีเนื้อความที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดเกี่ยวกับที่สำหรับขับถ่ายไว้ดังนี้ เรื่องปัสสาวะ ทรงอนุญาตให้ถ่ายในที่ที่จัดไว้ ทรงอนุญาตหม้อปัสสาวะ เขียงรองเท้าถ่ายปัสสาวะ ทรงอนุญาตเครื่องล้อม ๓ ชนิด และฝาปิดหม้อปัสสาวะ ส่วนเรื่องอุจจาระ ทรงอนุญาตให้ถ่ายในที่ที่จัดไว้ ให้มีหลุมอุจจาระ อนุญาตก่อพื้นยกสูง มีบันไดและราวบันได ให้ลาดพื้นเจาะช่องตรงกลางหลุม ทรงอนุญาตเขียงรองเท้าถ่ายอุจจาระ ทรงอนุญาตรางรองปัสสาวะ ไม้ชำระ และฝาปิดหลุมอุจจาระ และทรงมีพุทธานุญาตในการสร้างวัจจกุฎีด้วย นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังทรงกำหนด “วัจจกุฎีวัตร” หรือท่าทางปฏิบัติในการใช้วัจจกุฎีของพระสงฆ์ให้มีความเรียบร้อย
นอกเหนือไปจากงานศิลปกรรมที่ปรากฏในเมืองกำแพงเพชรผ่านการรับอิทธิพลศิลปะผ่านพุทธศาสนาแล้ว วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในเมืองกำแพงเพชรเป็นไปตามพระวินัยปิฎกเช่นเดียวกับพระสงฆ์ในศรีลังกา ดังนั้นในพื้นที่เขตอรัญญิก โบราณสถานหลายแห่งสามารถแบ่งเขตสังฆาวาสออกจากเขตพุทธาวาสได้อย่างชัดเจน โดยตำแหน่งเขตสังฆาวาสในเมืองกำแพงเพชรจะไม่ปรากฏตำแหน่งที่แน่นอนแต่ส่วนใหญ่จะพบว่ามีแนวเขตของกำแพงแก้วแบ่งพื้นที่ทั้งสองออกจากกัน และในเขตสังฆาวาสจะปรากกฏหลักฐานอาคารที่ใช้ในกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ ทั้งกุฏิ อาคารประเภทศาลา และวัจจกุฎี
วัจจกุฎีที่เมืองกำแพงเพชรเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสุขอนามัยที่ดีของพระสงฆ์ พบได้ตามเขตสังฆาวาสของโบราณสถานหลายแห่ง เช่น วัดอาวาสใหญ่ วัดกรุสี่ห้อง วัดพระนอน โดยเฉพาะที่วัดอาวาสใหญ่ พบเขตสังฆาวาสบริเวณด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือของวัด แบ่งแยกออกจากเขตพุทธาวาสอย่างชัดเจน พบฐานอาคารที่ก่อด้วยศิลาแลงกระจายตัวในบริเวณดังกล่าว และยังพบลักษณะอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นวัจจกุฎีด้วย เป็นอาคารในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อศิลาแลงเป็นฐานอาคารให้สูงขึ้นมาประมาณ ๑ เมตร มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออก ภายในเป็นบ่อเกรอะ ใช้ดินลูกรังอัดโดยรอบ มีแผ่นปิดหลุมส้วมวางบนบ่อเกรอะเป็นแผ่นศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมมีช่องตรงกลางและมีรางน้ำยื่นยาวออกมาจากแผ่นสี่เหลี่ยมดังกล่าว โดยมีช่องสี่เหลี่ยมที่อยู่ตรงกลางแผ่นศิลาแลงเป็นช่องสำหรับอุจจาระให้ตกลงไปในบ่อเกรอะด้านล่าง และรางที่ต่อออกมาน่าจะเป็นรางที่รับปัสสาวะแล้วไหลตามรางออกมาสู่ภาชนะรองรับด้านนอกอาคารต่อไป สำหรับโบราณสถานวัดกรุสี่ห้อง พบเขตสังฆาวาสตั้งอยู่โดยรอบนอกเขตกำแพงแก้ว พบวัจจกุฎีหรือห้องส้วมสำหรับพระสงฆ์ด้วยเช่นกัน พบทั้งแยกออกมาเป็นห้องส้วมแบบอาคารเดี่ยวและเป็นห้องส้วมภายในกุฏิ อาคารที่พบร่องรอยว่าเป็นวัจจกุฎีจะมีการก่อศิลาแลงสูงจากพื้นดินประมาณ ๒๐ เซนติเมตร มีการขุดบ่อเกรอะขนาดเล็กภายในอาคาร บางหลังพบแผ่นปิดหลุมส้วม โดยพบว่ามีความแตกต่างจากแผ่นปิดหลุมส้วมที่วัดอาวาสใหญ่ คือ มีลักษณะเป็นก้อนศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือรูปวงรีแล้วมีการเจาะช่องตรงกลางให้ตรงกับบ่อเกรอะภายในอาคารดังกล่าว หรือบางก้อนพบลักษณะที่เจาะช่องตรงกลางเป็นช่องสำหรับอุจจาระและมีการเซาะเป็นรางที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นรางสำหรับน้ำชำระหรือปัสสาวะให้ไหลแยกออกมา ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชรยังพบอาคารที่สันนิษฐานว่าเป็นวัจจกุฎีอีกหลายแห่งทั้งที่วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดป่าแฝก วัดมะเคล็ด
แผ่นปิดหลุมส้วมที่เมืองกำแพงเพชรนั้นทำมาจากแผ่นศิลาแลงที่เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่หาได้ง่ายในบริเวณนี้ แตกต่างจากแผ่นปิดหลุมส้วมหรือเขียงหินที่พบในพื้นที่อื่นเช่นที่ประเทศศรีลังกา และในประเทศไทยที่เมืองสุโขทัย เมืองพะเยา หรือเมืองลำพูน ซึ่งล้วนแต่ทำขึ้นมาจากแผ่นหินทั้งสิ้น
บรรณานุกรม
พีรพน พิสณุพงศ์. (๒๕๓๖). ส้วมสมัยโบราณที่อรัญญิกเมืองกำแพงเพชร. เมืองโบราณ. ปีที่ ๑๙ (ฉบับที่ ๒)๖๙-๘๑.
สมคิด จิระทัศนกุล. รู้เรื่อง วัด วิหาร โบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาปัตยกรรมไทย. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, ๒๕๕๔.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. (๒๕๓๘). “วัจจกุฎี” ในประเทศศรีลังกาโบราณ : ศึกษาเฉพาะกรณีเขียงหินสำหรับวางเท้าในแง่ประโยชน์การใช้สอย. ศิลปากร. ปีที่ ๓๗ (ฉบับที่ ๓), ๖๓-๘๔.
อรุณศักดิ์ กิ่งมณี. (๒๕๕๕). “วัจจกุฎีสมัยโบราณ : เขียงหินของศรีลังกาและไทย”. ในความสัมพันธ์ทางพุทธศาสน์และพุทธศิลป์ ระหว่างศรีลังกา พม่า และไทย. ๑๔๙-๑๘๒. กรุงเทพฯ : เอราวัณการพิมพ์, ๒๕๕๕.
(จำนวนผู้เข้าชม 5402 ครั้ง)