ประเพณีตั้งธรรมหลวงในเดือนยี่เป็ง
ประเพณีตั้งธรรมหลวงในเดือนยี่เป็ง
เดือนยี่เป็งหรือวันเพ็ญเดือน ๑๒ ของภาคเหนือ (เนื่องด้วยทางภาคเหนือ นับเดือนมากกว่าทางภาคกลางไป ๒ เดือน ดังนั้น เดือน ๑๒ ของภาคกลาง จึงเท่ากับเดือนยี่ของภาคเหนือ) จะมีประเพณีที่สำคัญเช่น การจุดประทีปและแขวนโคมบูชาพระรัตนตรัยตามพระอารามและอาคารบ้านเรือน การลอยประทีบในแม่น้ำเพื่อบูชาพระอุปคุต หรือ การลอยโคมเพื่อบูชาพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้วยังมีกประเพณีที่สำคัญคือ ประเพณีตั้งธรรมหลวง หรือเทศมหาชาติ หมายถึงการฟังพระธรรรมเทศนาเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญ วันเพ็ญเดือน ๑๒ หรือในภาคเหนือเรียกว่าเดือนยี่เป็ง เนื้อหาของพระธรรมเทศนาที่นำมาเทศนั้นมักใช้เรื่องของพระเวสสันดร ซึ่งมีทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ โดยจะเริ่มเทศน์ตั้งแต่เช้าตรู่ มีความเชื่อว่าหากผู้ใดได้ฟังจนจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ เมื่อตายไปแล้วจะได้ไปพบศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย เมื่อจบกัณฑ์หนึ่งเจ้าภาพแต่ละกัณฑ์ก็จะถวายกัณฑ์เทศน์แบบนี้เรื่อยไปจนจบ ส่วนการตกแต่งสถานที่จะจัดก่อนวันที่เทศนืหนึ่งวัน เรียกว่า “วันดา” ก็จะมีการนำสิ่งของต่างๆมาจัดเตรียมสำหรับเป็นเครื่องไทยธรรม สร้างประตูป่า ประดับต้นกล้วย อ้อย และตุง หรือธงสีต่างๆในบริเวณวัด นอกจากนี้โปรดสังเกตุว่าธรรมาสน์แต่ละวัดมีการใช้ผ้าม่านประดับตกแต่งซึ่งเป็นผ้าโบราณที่มีฝีมือการปักอย่างวิจิตรงดงาม ขึงกั้นทั้ง ๔ ด้านของธรรมาสน์ แต่ละด้านปักเป็นรูปเทวดาทรงเครื่อง ด้วยวัสดุต่างๆ เช่น แล่งโลหะ ไหมสีต่างๆ และกระจกจืน ในจังหวัดลำพูนเองมีการนำผ้าม่านมาใช้ประดับธรรมาสน์ในโอกาสสำคัญต่างๆ เช่นในประเพณีตั้งธรรมหลวงหรือเทศน์มหาชาติในครั้งนี้ด้วย
..................................................
ที่มา
มณี พยอมยงค์. ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์, ๒๕๓๗.
สงวน โชติสุขรัตน์. ประเพณีไทยภาคเหนือ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. นนทบุรี: ศรีปัญญา, ๒๕๕๓.
(จำนวนผู้เข้าชม 4734 ครั้ง)