เรื่อง ยลโฉมอัปสรา – ทวารบาล ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อุบลราชธานี
องค์ความรู้ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
เรื่อง ยลโฉมอัปสรา – ทวารบาล ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อุบลราชธานี
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมูล ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับพระราชทานนามวัดจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ภายในบริเวณวัดมีหอศิลปวัฒนธรรมซึ่งเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ โดยส่วนหนึ่งเป็นสมบัติของวัดที่มีมาแต่เดิมและบางส่วนมีผู้นำมาถวาย โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เช่น จารึกถ้ำภูหมาใน จ.อุบลราชธานี จารึกจากปราสาทพิมาย จ.นครราชสีมา ทับหลังแบบถาลาบริวัตร เทวรูปพระพิฆเณศวร ชิ้นส่วนเสารองรับหน้าบันปราสาทหิน รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ อีกหลายรายการ
ในบรรดาโบราณวัตถุที่เก็บรักษาในหอศิลปวัฒนธรรมนั้น “ชิ้นส่วนเสารองรับหน้าบันปราสาทหิน” มีความโดดเด่นน่าสนใจอย่างยิ่ง ลักษณะเป็นเสาสี่เหลี่ยมผืนผ้า สูง ๑๑๔ เซนติเมตร สลักจากหินทรายสีน้ำตาล – เทา มีภาพสลักอยู่ ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเป็นรูปบุรุษ อีกด้านหนึ่งเป็นรูปนางอัปสร มีความงดงามหาชมได้ยากในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่ไม่ทราบที่มาของโบราณวัตถุชิ้นนี้ว่าได้มาจากปราสาทหลังใด กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๗ ตอนที่ ๙ หน้า ๑๔ ลงวันที่๑๒ มกราคม ๒๕๓๓ ในชื่อ เสาประดับกรอบประตู ศิลปะลพบุรี เดิมตั้งอยู่ด้านนอกอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร จนกระทั่งปี ๒๕๓๕ หลังจากที่สร้างหอศิลปวัฒนธรรมแล้วเสร็จจึงได้ย้ายไปเก็บรักษาภายในอาคาร
เมื่อพิจารณารูปแบบการแต่งกายของนางอัปสราหรือนางอัปสรพบว่า ทรงศิราภรณ์ยอดเดียว สวมกระบังหน้า ทรงกุณฑล กรองศอ พาหุรัด ทองกร และทองพระบาท นุ่งผ้าชักชายยาว มีผ้าพับย้อนออกมาด้านหน้าตามรูปแบบที่นิยมในสมัยนครวัดตอนต้น ซึ่งการนุ่งผ้าลักษณะนี้พบมากที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์เช่นกัน นอกจากนี้นางอัปสรถือก้านดอกบัวที่หัตถ์ขวา มีนกแก้วเกาะอยู่บนไหล่ซ้าย คล้ายนางอัปสรที่ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นอย่างมาก สำหรับภาพสลักบุรุษมีพระพักตร์ยิ้มแย้ม สวมรัดเกล้าทรงกรวย กระบังหน้า ทรงกุณฑล พาหุรัด และทองกร นุ่งผ้าสั้นเหนือเข่า หัตถ์ทั้งสองประสานกันที่ด้านหน้ากุมปลายกระบอง ลักษณะรูปแบบเดียวกับภาพสลักทวารบาลที่ปราสาทศีขรภูมิเช่นกัน
จากตำแหน่งการจัดวางภาพสลักที่มีนางอัปสรยืนอิงแอบกับรูปบุรุษ เมื่อนำไปเทียบกับที่ปราสาทศีขรภูมิทำให้ทราบว่า ชิ้นส่วนเสารองรับหน้าบันปราสาทหินที่วัดสุปัฏนารามนี้ เป็นเสาด้านขวาของประตูปราสาท เนื่องจากภาพสลักบุรุษดังกล่าว คือ “นนทิเกศวร” ทวารบาลผู้รักษาทางเข้าวิมานของพระศิวะ ในยามปกติจะเป็นเทพบุตรเฝ้าวิมาน แต่เมื่อพระศิวะจะเสด็จออกด้านนอกจะแปลงเป็นโคสีขาวเพื่อเป็นเทพพาหนะ นนทิเกศวรจะเฝ้าอยู่ด้านขวาของประตูปราสาทเสมอ ส่วนฝั่งตรงข้ามจะเป็น “มหากาล” ซึ่งจะอยู่ด้านซ้ายของประตูปราสาท โดยมหากาลจะมีพระพักตร์ดุร้าย แยกเขี้ยว เบิกตาโพลง ผมสยาย แตกต่างจากนนทิเกศวรที่จะมีพระพักตร์ยิ้มแย้มอย่างเห็นได้ชัด
จากลักษณะการแต่งกายที่กล่าวมาทั้งหมด สันนิษฐานว่าชิ้นส่วนเสารองรับหน้าบันปราสาทหินชิ้นนี้ มีรูปแบบศิลปะนครวัดตอนต้น ครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ประมาณ ๙๐๐ – ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว ร่วมสมัยกับปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ และปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ หากท่านใดมีโอกาสเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานี อย่าลืมมายลโฉมนางอัปสรา – ทวารบาล ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร โบราณวัตถุชิ้นเอกที่ผู้ชื่นชอบด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ต้องห้ามพลาดครับ
ผู้เรียบเรียง: นายกฤษณพงศ์ พูนสวัสดิ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี
เอกสารอ้างอิง:
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสุรินทร์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๒.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔.
สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี, โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้วในพื้นที่สำนักศิลปากรที่ ๙ อุบลราชธานี. อุบลราชธานี: อุบลกิจออฟเซทการพิมพ์, ๒๕๖๓.
สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, ม.ร.ว. ปราสาทเขาพนมรุ้ง ศาสนบรรพตที่งดงามที่สุดในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๓๖.
(จำนวนผู้เข้าชม 2791 ครั้ง)